แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุคคลที่จะจัดการแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคล คือผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล ผู้แทนดังกล่าวจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นผู้ฟ้องคดีอาญาแทนนิติบุคคลนั้นไม่ได้
การขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องคดีอาญานั้น โจทก์จะต้องอ้างถึงเหตุอันควรในการขอแก้หรือเพิ่มเติมด้วย (หมายเหตุ มาตรา 5(3) เทียบฎีกาที่ 229/2490,618/2490,2028/2499มาตรา 163 เทียบฎีกาที่ 533/2496)
ย่อยาว
คดี 3 สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกันข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อพ.ศ. 2491 บริษัทนานยางฯ แห่งเมืองสิงคโปร์ ผู้ผลิตรองเท้ายางจำหน่ายได้มอบอำนาจให้นายทองหล่อเป็นผู้แทนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทในประเทศไทย เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนไว้แล้วเป็นรูปตราข้างอยู่ในวงรูปคาวเป็นเครื่องหมายสี่เหลี่ยมเล็กสำหรับใช้ติดที่พื้นรองเท้ายาง และปีนั้นเองบริษัทวัฒนสินพาณิชย์ตัวแทนในประเทศไทยได้สั่งรองเท้ายางของบริษัทนานยางฯ เข้ามาจำหน่ายถึง พ.ศ. 2495 ปรากฏว่ามีรองเท้ายางซึ่งมีพื้นทำเป็นรูปดาวอย่างเดียวกับของบริษัทนานยางฯ จำหน่ายในท้องตลาดมากโดยที่นายทองหล่อได้จดทะเบียนไว้เฉพาะเครื่องหมายตราช้างอย่างเดียวบริษัทนานยางฯ จึงให้นายทองหล่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราดาวอีก หลังจากนั้นปรากฏว่ายังมีรองเท้าพื้นยางตราดาวอย่างเดียวกับของบริษัทจำหน่ายในท้องตลาดอยู่บริษัทนานยางฯ จึงมอบให้นายวิชัย แซ่โซ ร้องทุกข์ต่อตำรวจนำจับบริษัทจำเลยทั้งสามพร้อมกับจำเลยผู้จัดการ
อัยการโจทก์จึงฟ้องคดีทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจเลียนแบบอย่างเครื่องหมายการค้าของบริษัทนานยางฯ ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วมาใช้ในการผลิตรองเท้ายาง โดยมีเจตนาจะลวงให้ผู้ซื้อหลงว่าเป็นรองเท้ายางของบริษัทนานยางฯ และจำเลยบังอาจขายรองเท้าดังกล่าวในทางทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 3, 4, 27 และกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 237, 238 บริษัทนานยางฯโดยนายโชวิชัยหรือ วิชัย แซ่ซอเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจได้ขอร่วมเป็นโจทก์ด้วย ศาลอนุญาต
ก่อนสืบพยาน อัยการโจทก์ร้องขอเพิ่มเติมฟ้องว่าบริษัทนานยางฯ ได้ผลิตรองเท้าผ้าใบจำหน่ายโดยใช้ลวดลายตราดาวอยู่ในเส้นคู่คดกฤช ภายในเส้นขนานเป็นเครื่องหมายการค้าอยู่ที่พื้นรองเท้ามาประมาณ 17-18 ปีแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำเนาให้จำเลยไว้สอบจำเลยวันนัด แต่ก็ไม่ได้มีการสอบจำเลยจนกระทั่งสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ว ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลสอบจำเลยในเรื่องแก้ฟ้องนี้แล้วยังเห็นควรสั่งอนุญาตดังที่ได้อนุญาตไปแล้วจำเลยทุกคนแถลงคัดค้านคำสั่งนี้เพื่ออุทธรณ์ฎีกาต่อไป แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งหมดผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 238 ให้จำคุกคนละ 1 เดือนปรับคนละ 500 บาท แต่โทษจำคุกให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตบริษัทนานยางฯ ชอบที่จะไปว่ากล่าวกับจำเลยในทางแพ่ง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
อัยการและบริษัทนานยางฯ โจทก์ต่างฎีกาขึ้นมา
ศาลฎีกาเห็นว่า
(1) บริษัทนานยางฯ เป็นนิติบุคคล แต่งตั้งให้นายโซวิชัยเป็นตัวแทนฟ้องความทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (3) บังคับว่าบุคคลที่จะจัดการแทนผู้เสียหายได้คือผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคล ไม่มีบทใดบัญญัติว่า ให้ผู้แทนมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นผู้แทนฟ้องคดีอาญาได้อีก ฉะนั้น ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยฎีกาของบริษัทนานยางฯ ไม่ได้
(2) คำร้องของอัยการโจทก์ที่ขอเพิ่มเติมฟ้องนั้น โจทก์มิได้อ้างถึงเหตุอันควรในการขอเพิ่มเติมฟ้อง ทั้งข้อนี้ก็เป็นข้อสำคัญศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้เป็นฟ้องเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว
(3) ปรากฏตามท้องสำนวนว่า เครื่องหมายที่พื้นรองเท้ายางที่โจทก์อ้างว่าเป็นเครื่องหมายการค้านั้น ไม่เจาะจงว่าเป็นเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะบริษัทจำเลยเคยผลิตรองเท้าที่มีลวดลายเช่นนั้นตามที่เคยทำมาแต่เดิมอย่างไรก็คงผลิตเช่นนั้นจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทุจริตและเจตนากระทำผิด พิพากษาตามศาลอุทธรณ์