คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371-376/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในฐานละเมิดโดยการบุกรุกเข้าไปปลูกโรงเรือนอยู่ในที่ดินของโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงขอให้ขับไล่และชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดเช่นนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ละเมิดสิทธิของโจทก์โดยบุกรุกเข้ามาปลูกโรงเรือนขึ้นในที่ดินของโจทก์บริเวณที่ถูกเพลิงไหม้โดยจำเลยไม่มีอำนาจ ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขับไล่จำเลยกับบริวาร และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดด้วย

จำเลยต่อสู้ว่า เช่าที่ดินจากเจ้าของเดิมปลูกเรือนอยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ เมื่อเพลิงไหม้เรือนจำเลยแล้ว จำเลยต่างปลูกเพิงอยู่อาศัยในที่เช่าเดิมไม่ได้บุกรุกหรือละเมิด

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยเช่าที่ดินปลูกบ้านอยู่อาศัย แม้บ้านจำเลยจะถูกไฟไหม้หมดจำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะปลูกบ้านอยู่ในที่เช่ารายนี้ต่อไป และได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นและเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องอ้างว่าได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาให้อาศัยหรือให้เช่าแล้วจำเลยยังละเมิดขัดขืนอยู่ต่อไป หากแต่ฟ้องอ้างว่าจำเลยบุกรุกเข้ามาอันเป็นการละเมิด คดีไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยกรณีที่โรงเรือนถูกเพลิงไหม้ไปหมดแล้ว จำเลยจะยังได้รับความคุ้มครองการเช่าต่อไปอีกหรือไม่ พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในฐานละเมิดโดยการบุกรุกเข้าไปปลูกโรงเรือนอยู่ในที่ดินของโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ขับไล่และชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิด เช่นนี้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์และจำนวนทุนทรัพย์ตามที่ปรากฏในฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนไม่ถึง 800 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นแล้วโจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

ตามฎีกาโจทก์ข้อ 1-2-3 เป็นเรื่องโต้แย้งข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

ส่วนฎีกาข้อ 4 ที่ว่า แม้จะตีความอย่างศาลอุทธรณ์ว่าเป็นเรื่องเช่าเพื่อปลูกโรงเรือนเป็นที่อยู่อาศัยก็ดี แต่เมื่อโรงเรือนนั้นสูญหายเสื่อมสลายไปแล้ว สัญญาเช่าย่อมระงับไปด้วยนั้น โจทก์ไม่เคยเสนอปัญหาข้อนี้ให้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ไม่ใช่ประเด็นในคดีนี้ โจทก์จึงฎีกาในปัญหาข้อนี้ไม่ได้ ตามมาตรา 249

พิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์

Share