คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604-1605/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ก็ฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ใช้กำลังกาย ไม้ตะพด เป็นอาวุธ ชกต่อยและตีประทุษร้ายร่างกายโจทก์ถูกบริเวณศีรษะแตกจนโลหิตไหล และถูกตามใบหน้าและลำตัวจนฟกช้ำดำเขียวหลายแห่ง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่โจทก์ ดังนี้ เป็นฟ้องที่บรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์จนโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายของส่วนใดของร่างกาย และลักษณะบาดแผลที่เกิดจากถูกจำเลยทำร้ายเป็นอย่างไร ไว้ชัดแจ้งเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม และเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้แต่ผู้เดียวในข้อหาว่าทำร้ายร่างกายโจทก์ในคดีนี้ มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย แม้มูลคดีเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ในคดีนี้จะได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนั้นก็ตาม ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลย ที่ 1 ที่ 2 ก็หาเป็นฟ้องซ้ำไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังไม่เคยถูกฟ้องและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในมูลคดีเดียวกันนี้มาก่อน
โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดรวม 4 กระทงคือความผิดต่อร่างกายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม และความผิดต่อเสรีภาพ โดยเฉพาะข้อหาว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดต่อร่างกายนั้น ปรากฏว่าเป็นข้อหาเดียวกับที่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้หาว่าทำร้ายร่างกายโจทก์ไว้ในสำนวนคดีอื่นซึ่งโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ คดีนั้นถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ในคดีนี้มิใช่ผู้เสียหายเพราะเป็นกรณีต่างวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำพิพากษาในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ก็ย่อมได้รับผลนี้ด้วย ฉะนั้น โจทก์จะมาฟ้องหาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ในมูลคดีเดียวกับคดีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 แล้วหาได้ไม่ ส่วนความผิดข้ออื่นๆ โจทก์ยังเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจฟ้องในความผิดนั้นๆ ได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

คดีแรก โจทก์ฟ้องและขอแก้ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้กำลังกาย ไม้ตะพดเป็นอาวุธประทุษร้ายร่างกายโจทก์ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่โจทก์ จำเลยได้ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่จับกุมโจทก์โดยมิชอบ โดยมีเจตนาให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยทั้งสามได้บังอาจข่มขืนใจโจทก์บังคับให้ไปสถานีตำรวจโดยใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ทั้งที่โจทก์ถูกพันธนาการไปตามถนน เมื่อถึงสถานีตำรวจแล้ว จำเลยทั้งสามได้แจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ว่าโจทก์เมาสุราอาละวาดตีหัวตำรวจ อันเป็นเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อและควบคุมโจทก์ไว้ โจทก์ได้พยายามร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยทั้งสาม แต่พนักงานสอบสวนไม่ยอมรับแจ้ง ต่อมามีการสอบสวน พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 3 ในข้อหาฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 157, 309 และ 174

คดีหลัง จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในสำนวนแรกเป็นจำเลยว่าจำเลยได้รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ ได้บังอาจยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นจำเลยต่อศาลในข้อหาว่าทำร้ายร่างกายถึงบาดเจ็บ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ แจ้งความเท็จ ความจริงจำเลยกับโจทก์ที่ 3 วิวาททุบตีกันเอง ส่วนโจทก์ที่ 1 ที่ 2 หาได้กระทำผิดดังฟ้องไม่ ที่จำเลยฟ้องว่าโจทก์ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่จับกุมจำเลยโดยมิชอบก็เป็นความเท็จ จำเลยกระทำผิดโจทก์มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็จับจำเลยมาดำเนินคดี โจทก์ไม่ได้ขืนใจจำเลยบังคับให้ไปสถานีตำรวจโดยใช้กำลังประทุษร้ายมัดมือไขว้หลังด้วยผ้าขาวม้า โจทก์จับกุมจำเลยไปตามหน้าที่และได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น หาได้แจ้งข้อความเท็จไม่การที่จำเลยฟ้องโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 176

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ และจำเลยทั้งสามในสำนวนแรกต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวน ให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า สิบตำรวจเอกเอื้อนจำเลยที่ 1 พลตำรวจเกษมจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจหน้าที่แกล้งจับกุมโจทก์ เป็นการกระทำโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สิบตำรวจเอกเอื้อนจำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 174 วรรค 2 พลตำรวจเกษมจำเลยที่ 2 และพลตำรวจนิวัฒน์จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้แจ้งความหรือร่วมในการแจ้งความรายนี้ด้วย จึงไม่มีความผิดในข้อหานี้ ข้อหาว่าร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ ฟังได้ว่าพลตำรวจเกษมจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับพลตำรวจนิวัฒน์จำเลยที่ 3 ทำร้ายร่างกายโจทก์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 แต่พลตำรวจนิวัฒน์จำเลยที่ 3 ถูกพนักงานอัยการฟ้องในข้อหานี้และศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1749/2509 โจทก์จะฟ้องพลตำรวจนิวัฒน์จำเลยที่ 3 ในข้อหานี้อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ส่วนสิบตำรวจเอกเอื้อนจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำผิดฐานนี้ ข้อหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้ข่มขืนใจโจทก์ให้กระทำการใด หรือจำยอมสิ่งใด ที่โจทก์ถูกควบคุมตัวไปสถานีตำรวจก็เพราะโจทก์ถูกจับกุมโจทก์จึงต้องถูกนำส่งสถานีตำรวจเพื่อมอบตัวให้พนักงานสอบสวนเท่านั้นเป็นการกระทำตามอำนาจของกฎหมาย จำเลยทั้งสามไม่มีความผิดฐานนี้เมื่อฟังว่าสิบตำรวจเอกเอื้อนกับพวกจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว การกระทำของโจทก์ก็ไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตามที่สิบตำรวจเอกเอื้อนกับพวกจำเลยฟ้องโจทก์ในคดีสำนวนหลัง พิพากษาว่าสิบตำรวจเอกเอื้อนจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 174 ให้ลงโทษกระทงหนักตามมาตรา 157 จำคุกไว้ 2 ปี พลตำรวจเกษมจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 4 เดือน และมาตรา 157 จำคุก 2 ปี รวมจำคุกพลตำรวจเกษมจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 4 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับพลตำรวจนิวัฒน์จำเลยที่ 3 ข้อหาอื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องคดีสำนวนหลังด้วย

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน แต่ต่อมาพลตำรวจนิวัฒน์จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตคดีจึงมีปัญหาไปสู่ศาลอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะเป็นจำเลยในคดีสำนวนแรก และเป็นโจทก์ในคดีสำนวนหลัง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา ขอให้ยกฟ้องคดีสำนวนแรก และลงโทษนายแย้มโจทก์ตามฟ้องในคดีสำนวนหลัง ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาเฉพาะข้อ 3(2) และ (3) ส่วนฎีกาข้อ 3(1) ไม่รับเพราะที่ศาลอุทธรณ์งดฟังแถลงการณ์ด้วยวาจาเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาฎีกาข้อ 3(4) จำเลยมิได้อุทธรณ์ จำเลยจะมาฎีกาในชั้นนี้ไม่ได้จึงไม่รับฎีกา ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218จึงไม่รับฎีกาของจำเลย

จำเลยฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาข้อ 3(4) ที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ก็ฎีกาได้จึงสั่งรับฎีกาข้อ 3(4) ของจำเลยเพิ่มขึ้น นอกนั้นให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

ฎีกาจำเลยข้อ 3(2) ที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดว่าจำเลยแต่ละคนได้กระทำผิดอะไรบ้างโจทก์เสียหายและบาดเจ็บอย่างไร ไม่ปรากฏในฟ้องและไม่มีรายงานการชันสูตรบาดแผลของแพทย์มาในฟ้องหรือท้ายฟ้องนั้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ใช้กำลังกาย ไม้ตะพดเป็นอาวุธ ชกต่อยและตีประทุษร้ายร่างกายโจทก์ ถูกบริเวณศีรษะจนแตกโลหิตไหล และถูกตามใบหน้าและลำตัวจนฟกช้ำดำเขียวหลายแห่ง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่โจทก์ ดังนี้เป็นฟ้องที่บรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลย ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ จนโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายตรงส่วนใดของร่างกาย และลักษณะบาดแผลที่เกิดจากถูกจำเลยทำร้ายเป็นอย่างไร ไว้ชัดแจ้ง เพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม และเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ฎีกาจำเลยข้อ 3(3) ที่ว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1200/2509 หมายเลขแดงที่ 1749/2509 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีโจทก์ นายแย้ม อินทะวงษ์ โจทก์ร่วม พลตำรวจนิวัฒน์ โคกไถ (จำเลยที่ 3) ในคดีนี้) จำเลยเรื่องทำร้ายร่างกาย ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษพลตำรวจนิวัฒน์จำเลย คดีถึงที่สุดไปแล้วนั้น เห็นว่าคดีนั้น พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีได้เป็นโจทก์ฟ้องพลตำรวจนิวัฒน์จำเลยที่ 3 ในคดีนี้แต่ผู้เดียว ในข้อหาว่าทำร้ายร่างกายโจทก์ในคดีนี้ หาได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นจำเลยด้วยไม่แม้มูลคดีเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ในคดีนี้จะได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนั้นก็ตาม ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็หาเป็นฟ้องซ้ำไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังไม่เคยถูกฟ้องและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในมูลคดีเดียวกันนี้มาก่อนเลย ฎีกาจำเลยข้อ 3(4) ที่ว่า ข้อหาฐานทำร้ายร่างกายตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1200/2509 หมายเลขแดงที่ 1749/2509 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรีดังกล่าวในฎีกาจำเลยข้อ 3(3) ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายแย้มโจทก์ในคดีนี้กับพลตำรวจนิวัฒน์จำเลยที่ 3 ต่างวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดว่า นายแย้มโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายไม่มีสิทธิฟ้องหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ จำเลยจึงฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะโจทก์มิใช่ผู้เสียหายเสียแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดรวม 4 กระทง คือ ความผิดต่อร่างกาย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม และความผิดต่อเสรีภาพ โดยเฉพาะข้อหาว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดต่อร่างกายนั้น ปรากฏชัดว่าเป็นข้อหาเดียวกับที่พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีได้ฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้หาว่าทำร้ายร่างกายโจทก์ ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1749/2509 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ คดีนั้นถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ในคดีนี้มิใช่ผู้เสียหาย เพราะเป็นกรณีวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำพิพากษาในลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ย่อมได้รับผลนี้ด้วย ฉะนั้น โจทก์จะมาฟ้องหาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ในมูลคดีเดียวกับคดีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 แล้วหาได้ไม่ ส่วนความผิดข้ออื่น ๆ นอกจากความผิดต่อร่างกายที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่แกล้งจับโจทก์ เป็นการกระทำโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนอีกด้วย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องในความผิดนั้น ๆ ได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะข้อที่ให้ลงโทษพลตำรวจเกษมจำเลยที่ 2 ในข้อหาทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 4 เดือน เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับพลตำรวจเกษมจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share