คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 183-184/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 คืนเงินค่าจ้างและชำระค่าปรับรวมเป็นเงิน 243,510 บาท ให้จำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นบังคับให้โจทก์ที่2 ที่ 3 ชดใช้ให้จำเลยดังกล่าว จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะในประเด็นที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้บังคับให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาและมิได้บังคับให้โจทก์ที่ 1 ที่ 4 คืนเช็คให้จำเลยทั้งสองเป็นการไม่ชอบดังนี้ ประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 จะต้องคืนเงินค่าจ้างให้กับจำเลยเท่าใดจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 คืนเงินค่าจ้างให้จำเลยเพิ่มขึ้น หรือลดลงผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดแล้วหาได้ไม่เพราะเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คให้โจทก์เป็นค่าจ้างทำถังขยะและค่าตะแกรงใส้ในของถังขยะ รวม 4 ฉบับ เช็คดังกล่าวรับเงินไม่ได้ จึงขอให้จำเลยชำระเงิน 170,638 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายเช็คทั้ง 4 ฉบับให้บริษัทไทยเจริญดี เพื่อนำไปซื้อวัสดุและจ่ายค่าแรงงาน แต่บริษัทไทยเจริญดีผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินตามเช็คซึ่งได้สมคบกับโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาฟ้องจำเลย เพื่อฉ้อโกงจำเลย

สำนวนที่ 2 จำเลยในสำนวนแรกกลับมาเป็นโจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้ว่าจ้างให้บริษัทไทยเจริญดี จำเลยที่ 1 และนายเจริญในฐานะผู้แทนบริษัทจำเลยที่ 1 ทำถังขยะโดยจ่ายเงินสดและเช็ค 4 ฉบับให้จำเลยทั้งสองไปแล้ว แต่จำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์ถูกเทศบาลปรับเป็นเงิน 210,000 บาท และโอนเช็คให้จำเลยที่ 3 (โจทก์สำนวนแรก) และจำเลยที่ 4 (ตัวแทนหรือลูกจ้างจำเลยที่ 3) โดยคบคิดกันฉ้อโกงโจทก์ จึงต้องคืนเช็คหรือใช้เงินตามเช็ค 167,500 บาท ให้โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน 493,100 บาท และค่าปรับวันละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะมอบถังขยะเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสี่คืนเช็ค 4 ฉบับตามฟ้องถ้าไม่คืนให้ใช้เงิน 167,500 บาท (ซึ่งรวมอยู่ในยอดเงิน 493,100 บาท) ให้โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิปรับจำเลย และโจทก์ยังไม่ชำระค่าถังอีก 335 ชุด เป็นเงิน103,850 บาทจึงขอให้โจทก์ชำระเงินดังกล่าว

จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่าไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และไม่เคยได้รับมอบเช็คจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ความจริงโจทก์ว่าจ้างจำเลยทำถังขยะและจ่ายค่าจ้างเป็นเช็ค โดยจำเลยที่ 2 ค้ำประกันให้แต่เช็คขึ้นเงินไม่ได้

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 4 และโจทก์ไม่ผิดสัญญา

ชั้นพิจารณาเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาคดีทั้งสองรวมกันแล้วให้เรียกห้างหุ้นส่วน ช.บรรยงกิจก่อสร้าง (โจทก์สำนวนแรก) เป็นโจทก์ที่ 1 บริษัทไทยเจริญดี (จำเลยที่ 1 ในสำนวนที่สอง) เป็นโจทก์ที่ 2 นายเจริญ (จำเลยที่ 2 ในสำนวนที่ 2) เป็นโจทก์ที่ 3 นายบรรยง (จำเลยที่ 3 ในสำนวนที่ 2) เป็นโจทก์ที่ 4 และให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดสุพรก่อสร้าง (จำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ที่ 1 ในสำนวนหลัง) เป็นจำเลยที่ 1 นางสุพร (โจทก์ที่ 2 สำนวนหลัง) เป็นจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 167,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 คืนเงินค่าจ้าง 143,510 บาท และชำระค่าปรับ 100,000 บาทให้จำเลยทั้งสอง ข้อหาฟ้องของโจทก์จำเลยนอกจากนี้ให้ยกเสียทั้งสิ้น

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขอให้บังคับให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ชำระค่าปรับที่จำเลยถูกเทศบาลปรับเป็นเงิน 210,000 บาท กับค่าปรับฐานผิดสัญญาอีกวันละ 1,000 บาท และให้โจทก์ทั้งสี่คืนเช็ค 4 ฉบับให้แก่จำเลยทั้งสองด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ต้องใช้เงินตามเช็คพิพาท 4 ฉบับ เป็นเงิน 167,500 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 4 คืนเช็คพิพาทให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องคืนเงินค่าจ้างทำถังขยะ 143,510 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 แต่ให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 210,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 อีกโสดหนึ่งโดยให้หักจำนวนเงิน 23,990 บาท (ค่าจ้างทำถังขยะที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ยังไม่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ที่ 2) ออกเสียก่อน คงเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเงิน 186,010 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินตามเช็คพิพาททั้ง4 ฉบับ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 4 และจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ได้รับเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับไว้โดยสุจริตเพื่อการชำระหนี้ จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกเช็คพิพาทคืน ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น และวินิจฉัยต่อไปว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 คืนเงินค่าจ้าง 143,510 บาท และชำระค่าปรับ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 243,510 บาทให้จำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ 2 และที่ 3 และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นบังคับให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ใช้ให้จำเลยดังกล่าว จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะในประเด็นที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้บังคับให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญา และมิได้บังคับให้โจทก์ที่ 1 และที่ 4 คืนเช็คให้จำเลยทั้งสอง เป็นการไม่ชอบ ดังนั้นประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จะต้องคืนเงินค่าจ้างให้กับจำเลยเท่าใด จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องคืนเงินค่าจ้างให้จำเลยเพิ่มขึ้น หรือลดลงผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดแล้วหาได้ไม่ เพราะเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 (ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุพรก่อสร้าง) ชำระเงินตามเช็คพิพาท 4 ฉบับให้โจทก์ที่ 1 (ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.บรรยงกิจก่อสร้าง) จำนวน 167,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2515 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความสามศาล 8,000 บาทแทนโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 (บริษัทไทยเจริญดีจำกัด และนายเจริญ ด่านนำดี) คืนเงินค่าจ้าง 143,510 บาท และใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาอีก 210,000 บาท รวมเป็นเงิน 353,510 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 (ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุพรก่อสร้าง และนางสุพร ชาติภิญโญ) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share