คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3411-3412/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ทนายโจทก์ที่ 2 แถลงไม่ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ซึ่งส่งหมายให้ไม่ได้อีกต่อไป เป็นอันว่ามีโจทก์ที่ 2 พิพาทกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เท่านั้นบันทึกดังกล่าวพอถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ได้ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำหน่ายคดีของโจทก์ที่ 2 เฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 แล้ว
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและการไฟฟ้านครหลวงเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ พิเศษโดยเฉพาะ จึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่จัดตั้ง หาจำเป็นต้องมีพยานบุคคลมาเบิกความรับรองว่าเป็นนิติบุคคลไม่
แม้พนักงานของโจทก์จะได้รับเงินเดือนจากโจทก์เป็นประจำอยู่แล้วแต่เมื่อโจทก์ต้องใช้พนักงานมาซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายอันเกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างล่วงเวลาของพนักงานโจทก์จากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาททำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองเสียหาย จำเลยทั้งสองและจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 152,878 บาท และ 57,133.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาในสำนวนคดีของโจทก์ที่ 1 ส่วนคดีของโจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 แถลงไม่ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 แล้ว

จำเลยที่ 2 ให้การทั้งสองสำนวนว่า ไม่รับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 2 ได้ประกันภัยรถคันเกิดเหตุไว้กับจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ไม่ใช่นิติบุคคลเหตุเกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 3 รับประกันภัยยอมรับผิดต่อบุคคลภายนอกไม่เกิน100,000 บาท หากจำเลยที่ 3 รับผิดก็ไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 152,878 บาท และ 57,133.37 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในสำนวนแรกไม่เกิน 70,000 บาท สำนวนที่สองไม่เกิน 30,000 บาท

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รับผิดดอกเบี้ยในต้นเงิน 70,000 บาทต่อโจทก์ที่ 1 และต้นเงิน 30,000 บาทต่อโจทก์ที่ 2 นับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปรากฏว่าศาลชั้นต้นบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2523 ว่า ทนายโจทก์ที่ 2 แถลงไม่ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ซึ่งส่งหมายให้ไม่ได้อีกต่อไป เป็นอันว่าในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10530/2522 มีโจทก์ที่ 2 พิพาทกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เท่านั้น บันทึกของศาลชั้นต้นดังกล่าวพอถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำหน่ายคดีของโจทก์ที่ 2 เฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 แล้ว

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าโจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคลนั้น เห็นว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นโดย พระราชบัญญัติพิเศษโดยเฉพาะคือ พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 โจทก์ทั้งสองจึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายดังกล่าว หาจำต้องมีพยานบุคคลมาเบิกความรับรองแต่อย่างใดไม่

ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าพนักงานโจทก์ต่างมีเงินเดือนประจำ การที่โจทก์เรียกค่าเสียหายโดยคิดค่าล่วงเวลาของพนักงานโจทก์ด้วยนั้น ทำให้ความเสียหายสูงเกินความจำเป็น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พนักงานของโจทก์จะได้รับเงินเดือนจากโจทก์เป็นประจำอยู่แล้วก็ดี แต่เมื่อโจทก์ต้องใช้พนักงานของโจทก์มาซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายอันเกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างล่วงเวลาของพนักงานโจทก์จากจำเลยได้ เพราะถ้าไม่มีการทำละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ก็ย่อมจะไม่ต้องใช้พนักงานของโจทก์มาทำงานล่วงเวลา หรือหากจะใช้ก็คงนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น หรือหากโจทก์ไม่ใช้พนักงานของโจทก์เอง แต่ได้จ้างเหมาให้บุคคลอื่นทำการซ่อมแซมแทน จำเลยก็คงต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์เช่นเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องชอบด้วยรูปคดีแล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ได้ถอนฟ้องเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ไปแล้วตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share