คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1731-1732/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่รถชนกันเป็นเพราะคนขับรถของโจทก์และจำเลยต่างประมาทด้วยกัน และไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ค่าเสียหายจึงพับกันไป
ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อจำเลยที่ 2 นายจ้างไม่ต้องรับผิด ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาได้ด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำนวนแรกและสำนวนหลังพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีข้อโต้เถียงในชั้นฎีการับฟังได้ว่า นายมานิตย์ ทองตราชู เป็นบุตรของโจทก์สำนวนหลัง ขณะเกิดเหตุเป็นลูกจ้างและขับรถยนต์ตามคำสั่งของโจทก์สำนวนแรกรถได้ชนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับ ปัญหาว่าฝ่ายใดขับรถโดยประมาทนั้น ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า นายมานิตย์กับจำเลยที่ 1 ต่างประมาทด้วยกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ปัญหานี้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาจึงยุติ คดีคงมีปัญหาตามฎีกา จำเลยที่ 2 ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองสำนวนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดในกรณีนี้ต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 และ 223 โดยต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะนายมานิตย์กับจำเลยที่ 1 มีความประมาทด้วยกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันค่าเสียหายจึงควรเป็นพับกันไป ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 676/2524 คดีระหว่าง บริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด โจทก์ นายปราโมทย์ สกุลวัฒนกิจ จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 1984/2524 คดีระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ นายสมฤทธิ์ เรือนจันทร์ กับพวก จำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นทั้งสองสำนวน

อนึ่ง ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ อาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาได้ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคดีสองสำนวนนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share