แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์และ ส. ต่างเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปน้ำเต้าคู่ต่อมาโจทก์และส. ได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์สิน โดย ส. ยินยอมให้โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปน้ำเต้าคู่ดังกล่าวแต่ในระหว่างที่โจทก์ดำเนินการขอจดทะเบียนนั้น ส. ได้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปน้ำเต้าคู่ให้แก่บริษัทจำเลยซึ่งมี ส. เป็นกรรมการแล้วบริษัทจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปน้ำเต้าคู่ของบริษัทจำเลยจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 16 วรรคแรกแล้วนายทะเบียนมี สิทธิที่จะไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้เพราะนอกจากจะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเดียวกันหรือเกือบเหมือนกันดังเช่นที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 18 แล้ว มาตรา 16 วรรคแรกมีเจตนารมณ์ต้องการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณชนเมื่อเครื่องหมายการค้าใดเข้าลักษณะที่บัญญัติไว้แล้วห้ามนายทะเบียนรับจดทะเบียนโดยไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ก่อนมีสิทธิคัดค้านการจดทะเบียนของโจทก์หรือไม่รวมทั้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเกิดจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ที่จดทะเบียนไว้ก่อนหรือผู้รับโอนหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลคั้นกี่น้ำเต้าทองเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปน้ำเต้าคู่ ห้างนี้มีหุ้นส่วน 4 คน คือ โจทก์ นายองอาจ นายเสถียรและนางจินต์ ต่อมานายองอาจถึงแก่กรรมนายเสถียรและโจทก์ได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกันโดยนายเสถียรซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการยินยอมให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้แต่นายเสถียรไม่ไปยืนยันการให้ความยินยอมต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงฟ้องนายเสถียรขอให้ไปให้คำยืนยัน ระหว่างดำเนินคดีดังกล่าว นายเสถียรได้โอนเครื่องหมายการค้ารูปน้ำเต้าคู่ไปให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีนายเสถียรเป็นกรรมการ แล้วบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ไปร้องคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและฉ้อฉลโจทก์และการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 แล้ววินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นการไม่ชอบขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การคัดค้านของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยชอบไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน แม้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลคั้นกี่น้ำเต้าทองเคยยินยอมจะไม่คัดค้านการจดทะเบียนของโจทก์ ก็ไม่มีผลยกเว้นข้อห้ามตามกฎหมายที่ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 2รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เนื่องจากมาตรา 16 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 บัญญัติว่า “ถ้านายทะเบียนเห็นว่า เครื่องหมายการค้ารายใด ฯลฯ เหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าซึ่งเจ้าของอื่นได้นำมาจดทะเบียนไว้แล้วเพื่อสินค้าจำพวกเดียวกันหรือเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายที่ว่านี้ จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน ฯลฯ ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน ฯลฯ” ทำให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่านอกจากจะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเดียวกันหรือเกือบเหมือนกันดังเช่นมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 แล้ว มาตรา 16 ดังกล่าว ต้องการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณชน เมื่อเครื่องหมายการค้าใดเข้าลักษณะดังที่บัญญัติไว้แล้ว ห้ามนายทะเบียนรับจดทะเบียนโดยไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ก่อนมีสิทธิคัดค้านการจดทะเบียนของโจทก์หรือไม่และใช้สิทธิโดยชอบหรือไม่รวมทั้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเกิดจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ที่จดทะเบียนไว้ก่อนหรือผู้รับโอนหรือไม่ซึ่งโจทก์ฎีกาเป็นประเด็นข้อ 1 และข้อ 2 ประเด็นสองข้อนี้ไม่ทำให้ผลการวินิจฉัยของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย คดีบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้
พิพากษายืน