คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614-615/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีร้องขัดทรัพย์ ผู้ที่เป็นคู่ความก็คือโจทก์และผู้ร้องขัดทรัพย์จำเลยจะเข้ามาในคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อเข้ามาแล้วมีข้อโต้แย้งคัดค้านคำร้องขัดทรัพย์อย่างไร ต้องตั้งประเด็นขึ้นไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นที่ตั้งไว้นั้นได้เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเพียงแต่เข้ามาแทนที่จำเลยโดยไม่มีข้อโต้แย้งคัดค้านอย่างไร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีข้อที่จะยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา จึงอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2514)

ย่อยาว

เดิมบริษัทสุภัคผล จำกัด จำเลยที่ 2 กับพวกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองสำนวน ชั้นบังคับคดี โจทก์ทั้งสองสำนวนต่างขอและนำยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในโรงงานผลิตน้ำตาลแห่งเดียวกันโดยโจทก์สำนวนแรกนำยึดเครื่องหีบอ้อย 4 ชุด โจทก์สำนวนที่ 2นำยึดเตา 3 ลูก แต่ละเตามีหม้อน้ำ 4 ลูกรวมเป็นหม้อน้ำ 12 ลูกและปล่องเหล็ก

นายถวิล ถวิลเติมทรัพย์ ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองสำนวนนำยึดเป็นของผู้ร้อง ทรัพย์ดังกล่าวเป็นส่วนควบและอุปกรณ์ในโรงงานผลิตน้ำตาล ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ขายฝากที่ดินสิ่งก่อสร้าง เครื่องจักรยนต์ อันเป็นส่วนควบและอุปกรณ์ในโรงงานผลิตน้ำตาลทั้งสิ้นแก่ผู้ร้อง และต่อมาได้เพิ่มราคาขายฝากขึ้นอีก2 ครั้ง ๆ สุดท้ายเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2508 รวมเป็นราคาขายฝาก15,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนภายในกำหนด ทรัพย์สินทั้งหมดจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2508ขอให้ศาลปล่อยทรัพย์ที่ยึด

โจทก์สำนวนแรกให้การว่า ทรัพย์ที่ยึดไม่รวมอยู่ในสัญญาขายฝากเป็นสังหาริมทรัพย์ จะจดทะเบียนขายฝาก ณ หอทะเบียนที่ดินไม่ได้ไม่ใช่เป็นส่วนควบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรยนต์อื่นใด ขอให้ยกคำร้อง

โจทก์สำนวนที่สองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เอาทรัพย์ที่ถูกยึดขายฝากแก่ผู้ร้องและการขายฝากมิได้ขายฝากกันจริงจัง แต่เป็นการฉ้อฉลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 สัญญาขายฝากไม่สมบูรณ์ ยังไม่ถึง 3 ปีนับแต่วันขายฝาก ผู้ร้องจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ทางครอบครองขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาคดีชั้นร้องขัดทรัพย์สองสำนวนนี้เข้าด้วยกัน ระหว่างสืบพยาน ผู้ร้องขัดทรัพย์ โจทก์ทั้งสองสำนวนยื่นคำแถลงร่วมกันว่า จำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดขอให้โอนการยึดทรัพย์รายนี้ไปดำเนินทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ศาลชั้นต้นสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จสำนวนแล้วฟังว่าทรัพย์รายพิพาทเป็นเครื่องอุปกรณ์ของโรงงานผลิตน้ำตาล อันเป็นทรัพย์ประธานที่จำเลยที่ 2 ขายฝากให้แก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ไปแล้วทรัพย์รายพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง มีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด

โจทก์ทั้งสองสำนวนต่างอุทธรณ์ โดยมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำเลยอุทธรณ์รวมเข้ามากับโจทก์สำนวนแรกในฟ้องอุทธรณ์ฉบับเดียวกัน

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้มีฐานะเป็นคู่ความแทนบริษัทจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งอุทธรณ์ฉบับเดียวกับโจทก์สำนวนแรกโดยมิได้เป็นคู่ความร่วมต้องห้ามตามกฎหมายให้ยก คงรับวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองสำนวนซึ่งพิจารณาแล้วพิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีการวมเข้ามากับโจทก์สำนวนแรกในฟ้องฎีกาฉบับเดียวกัน

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วในประเด็นที่ว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงชื่อในคำแถลงฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2511ร่วมกับโจทก์ และได้แต่งทนายเข้ามาดำเนินคดีนี้ ถือได้หรือไม่ว่าได้เข้ามาดำเนินคดีแทนบริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว และจะฟ้องอุทธรณ์ฎีการ่วมกับโจทก์สำนวนแรกมาในฟ้องอุทธรณ์ฎีกาฉบับเดียวกัน โดยลงชื่อร่วมกับโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 25 ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวเข้าดำเนินคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วได้ทันที การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงดังกล่าวร่วมกับโจทก์สำนวนแรกและแต่งทนายความเข้าดำเนินคดีนี้ จึงถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้ามาว่าคดีแทนบริษัทจำเลยที่ 2 แล้ว ปัญหาต่อไปมีว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นขัดทรัพย์ในคดีนี้ได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าในคดีร้องขัดทรัพย์ ผู้ที่เป็นคู่ความคือโจทก์ และผู้ร้องขัดทรัพย์ส่วนจำเลยนั้น เมื่อได้รับหมายนัดแล้ว จำเลยจะเข้ามาในคดีก็ได้จำเลยจะมีข้อโต้แย้งคัดค้านคำร้องขัดทรัพย์อย่างไรก็ชอบที่จะตั้งประเด็นขึ้นไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นที่ตั้งไว้นั้นได้ คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่เข้ามาแทนที่จำเลยโดยมิได้มีข้อโต้แย้งคัดค้านอย่างไร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีข้อที่จะยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาฉะนั้นจึงอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ส่วนปัญหาที่ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟ้องอุทธรณ์ฎีการ่วมกับโจทก์สำนวนแรกเข้ามาในฟ้องอุทธรณ์ฎีกาฉบับเดียวกันได้หรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย คงรับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนไปเท่านั้น

ในประเด็นข้อขายฝากกับผู้ร้องจริงหรือไม่ ฟังว่าจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาขายฝากทรัพย์แก่ผู้ร้องจริง

ในประเด็นที่ว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นทรัพย์ที่ขายฝากกันตามสัญญานั้นด้วยหรือไม่ฟังว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นเครื่องใช้ประกอบและประจำตัวโรงงานน้ำตาลอันเป็นทรัพย์ประธานเป็นอาจิณ จึงเป็นเครื่องอุปกรณ์ของโรงงานน้ำตาลที่บริษัทจำเลยที่ 2 ได้ขายฝากแก่ผู้ร้องไปตามสัญญาข้อ 3 แล้ว การขายฝากรายนี้เป็นการขายฝากที่ดินมีโฉนดพร้อมทั้งโรงงานน้ำตาล เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบบนที่ดินไปพร้อมในคราวเดียวกัน ทำสัญญาขายฝากกันต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ หอทะเบียนที่ดิน แต่เนื่องจากเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์เป็นสังหาริมทรัพย์ สัญญาขายฝากสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่ต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานก็ใช้ได้อยู่แล้ว การไปทำสัญญาขายฝากโดยจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นการเกินเลยไป จึงไม่ทำให้สัญญาขายฝากนั้นเสียไป ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาขายฝากนั้นชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้ทั้งสองสำนวน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืนให้โจทก์แต่ละสำนวนเสียค่าทนายความชั้นฎีกาสำนวนละ 800 บาทแทนผู้ร้องขัดทรัพย์

Share