คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1843-1844/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายเขียนกรอกข้อความในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกฎหมายที่ดิน แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้โดยเจตนายกทรัพย์สินของตนให้แก่โรงเรียน วัดมูลนิธิ และบุคคลต่างๆ ตามที่ระบุไว้ เมื่อตนได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการให้เป็นไปตามเจตนาของตน เอกสารนี้จึงเป็นพินัยกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1646
แม้แบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจจะมีข้อความบางตอนพิมพ์อยู่แล้ว แต่ถ้าตัดข้อความตามแบบพิมพ์นี้ออกไป คงเหลือแต่เฉพาะใจความที่ผู้ตายเขียนด้วยมือตนเองก็มีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารเขียนเองทั้งฉบับที่สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657หาเป็นโมฆะไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

สำนวนแรกผู้ร้องยื่นคำร้องว่า พระภิกษุ ป. ถึงแก่มรณภาพมีทรัพย์มรดก ก่อนมรณภาพได้ทำพินัยกรรมมอบให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจัดสรรมรดกให้แก่บุคคลต่าง ๆ ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก

ผู้ร้องคัดค้านว่า เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของพระภิกษุ ป. พระภิกษุ ป. ไม่เคยทำพินัยกรรมมอบให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่พินัยกรรม และเป็นเอกสารปลอม ผู้ร้องไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก และไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ป. ขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก

สำนวนหลังผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่าก่อนมรณภาพพระภิกษุ ป.ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรม ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ป.

ผู้ร้องในสำนวนแรกคัดค้านว่า พระภิกษุ ป. ได้ทำพินัยกรรมไว้ตามที่กล่าวในสำนวนแรก ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นพินัยกรรม มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้แบบพิมพ์ที่พระภิกษุ ป. เอามาเขียนกรอกข้อความจะเป็นแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดินแต่ข้อความที่กรอกลงนั้นเมื่อได้อ่านโดยตลอดแล้วคงสรุปได้ว่าพระภิกษุ ป. แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้โดยเจตนายกให้แก่บุคคลต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้เมื่อตนได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการให้เป็นไปตามเจตนาของตน เอกสารนี้จึงเป็นพินัยกรรมและเข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ แม้ตามแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะมีข้อความบางตอนพิมพ์อยู่แล้วก็ตาม แต่ถ้าตัดข้อความตามแบบพิมพ์นี้ออกไปคงเหลือแต่เฉพาะข้อความที่พระภิกษุ ป.เขียนด้วยมือตนเอง ข้อความนี้ก็มีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ชอบด้วยมาตรา 1646 และ 1657 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว

พิพากษายืน

Share