คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4715-4716/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522บัญญัติเรื่องการจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้เป็นไปโดยประหยัด สะดวก และรวดเร็ว ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 39 ประกอบมาตรา 50 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกัน หรือให้คู่ความนำพยานมาสืบ หรือมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้เสมอก่อนที่ศาลแรงงานอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ทั้งนี้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29,38,42,43 และมาตรา 45 การที่ศาลแรงงานสอบข้อเท็จจริงก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง ซึ่งศาลแรงงานมีอำนาจกระทำได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น หลังจากศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาทแล้ว ศาลแรงงานจึงมีอำนาจสั่งให้โจทก์และจำเลยเตรียมข้อเท็จจริงทั้งในสำนวนและพยานหลักฐานที่จะใช้สนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงให้พร้อมเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายยอมรับได้
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีพยานหลักฐานแสดงต่อศาลแรงงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ทั้งจำเลยยังมีพยานบุคคลเป็นพยานอีก 1 ปาก พยานจำเลยย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานโจทก์ การที่ศาลแรงงานรับฟังคำกล่าวอ้างของโจทก์ว่าโจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ตามคำให้การและฟ้องแย้ง จำเลยอ้างว่า โจทก์ทุจริตโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่แอบอ้างบุคคลหลายคนแต่งตั้งเป็นสมาชิกของจำเลยแล้วสั่งซื้อสินค้าไปจากจำเลยเป็นจำนวนมาก เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระจำเลยเรียกให้บุคคลที่โจทก์แอบอ้างชำระหนี้ ปรากฏว่าสมาชิกบางรายไม่มีตัวตน บางรายไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกและไม่เคยสั่งซื้อสินค้าจากจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นกรณีที่จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ในการแต่งตั้งสมาชิก ต่อสมาชิกดังกล่าวสั่งซื้อสินค้าจากจำเลย และค้างชำระค่าสินค้า เมื่อปรากฏว่า การที่สาวจำหน่ายทั้งสิบคนที่โจทก์แต่งตั้งได้สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยและมียอดหนี้ค้างชำระนั้น โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแม้ในการแต่งตั้งสาวจำหน่ายที่ชื่อ ก. และ ร. โจทก์ได้จดบันทึกข้อมูลตามคำบอกเล่าของบุคคลดังกล่าวลงในทะเบียนแต่งตั้งโดยโจทก์มิได้ตรวจสอบหลักฐานทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทั้งมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ตาม แต่เมื่อเป็นคนละกรณีกับสาวจำหน่ายที่ชื่อ ก. และ ร. ตามที่จำเลยฟ้องแย้ง โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้งแก่จำเลย
โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างฟ้องจำเลยผู้เป็นนายจ้างต่อศาลแรงงานเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าจ้างค้างจ่าย และเงินทดรองจ่าย แม้จำเลยแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ว่าทุจริตต่อหน้าที่ และจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากการที่สาวจำหน่ายที่โจทก์แต่งตั้งได้สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยและมียอดหนี้ค้างชำระจากโจทก์ ก็เป็นเพียงการฟ้องเรียกค่าสินค้าที่ค้างชำระเท่านั้น ไม่มีผลให้คดีนี้กลายเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา นอกจากนี้คดีอาญาซึ่งจำเลยแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นการที่ศาลแรงงานพิจารณาและพิพากษาคดีนี้โดยไม่รอฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 21,600 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 16,716 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ค่าชดเชยจำนวน 108,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 25,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 54,000 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 11,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 19พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป และจ่ายเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงิน11,400 บาท ทุกระยะ 7 วัน นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และจ่ายเงินทดรองจ่ายจำนวน 5,200 บาท แก่โจทก์ที่ 2

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 744,799 บาท จากโจทก์ที่ 2 จำนวน 49,924 บาท และให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ทั้งสองสำนวนให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง หลังจากศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้ว ศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความและสืบพยานจำเลยอีก 1 ปาก โจทก์ทั้งสองและจำเลยแถลงหมดพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยประกอบธุรกิจขายตรงสินค้าจำพวกเครื่องสำอาง ใช้ชื่อทางการค้าว่า มิสทิน โดยจำเลยจะขายสินค้าดังกล่าวให้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย โดยโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานวันที่ 15 ธันวาคม 2535 ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้อำนวยการเขต 523 จังหวัดสระบุรี ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 18,000 บาท โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้จัดการประจำเขต 527 จังหวัดนครปฐม ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,500 บาท จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่หาและแต่งตั้งสมาชิกที่เรียกว่า สาวจำหน่าย เพื่อสมาชิกจะสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยไปจำหน่ายหรือใช้เอง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ ปรากฏว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ที่ 1 จำนวน 11,400 บาท ส่วนเงินทดรองจ่ายของโจทก์ที่ 2 จำนวน 5,200 บาท โจทก์ที่ 2 สละข้อเรียกร้อง ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 1เป็นผู้แต่งตั้งสาวจำหน่ายที่ชื่อกรุณาภรณ์ จันทร์ไม้งาม นางประยูร บุญยงและอิงอร มีวีระสม แต่คดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้แต่งตั้งสาวจำหน่ายที่ชื่อ ดาริน สำราญสรวง อังสนา ผลเจริญ ลดามาศ ตรีพรพรรณ กฤษณา อำภาวิทยา พรนิภา อาจณรงค์ กัลยาภรณ์ ใจสุริยา และนิลวรรณ หาญกล้า ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งสาวจำหน่ายที่ชื่อพรพิมล ยอดม่วงขวัญ นายโรจนะ โพธิ์จันทร์ นางสาวนิภาพร เจติรักษ์ นางสาวสุภา จันทร์งาน นางสาวบัวผัน สังข์รักษา นางสาวปราณี สรงพรมทิพย์ และนางสาวรัชนียา สุภาโม แต่คดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งสาวจำหน่ายที่ชื่อบุญกาญจ์ รุผักชี พรทิพย์ สินชัย และสมจิตต์ สามกองงาม ดังนั้น การที่สาวจำหน่ายที่ชื่อ ดาริน อังสนา ลดามาศ กฤษณา พรนิภา กัลยาภรณ์ นิลวรรณ บุญกาญจ์ พรทิพย์ และสมจิตต์ สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยและค้างชำระค่าสินค้าจึงไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งสองทั้งจำเลยมิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองเกี่ยวข้องกับการใช้ชื่อของสาวจำหน่ายดังกล่าวสั่งซื้อและรับสินค้าจากจำเลยไปโดยไม่ชำระราคา ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตในการแต่งตั้งและสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยของสาวจำหน่ายทั้งสิบคนดังกล่าว

ส่วนสาวจำหน่ายจำนวน 3 คน ที่โจทก์ที่ 1 แต่งตั้ง และสาวจำหน่ายจำนวน7 คน ที่โจทก์ที่ 2 แต่งตั้ง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าในการแต่งตั้งสาวจำหน่ายดังกล่าวโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย แต่การที่โจทก์ที่ 1 จดบันทึกข้อมูลตามคำบอกเล่าของสาวจำหน่ายที่ชื่อ กรุณาภรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 2 จดบันทึกข้อมูลตามคำบอกเล่าของสาวจำหน่ายที่ชื่อ นายโรจนะ ลงในบัตรทะเบียนแต่งตั้งโดยมิได้ตรวจสอบหลักฐานทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทั้งมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เมื่อข้อความที่จดบันทึกดังกล่าวไม่เป็นความจริง การแต่งตั้งสาวจำหน่าย 2 คน ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2จึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต สำหรับการที่สาวจำหน่ายทั้งสิบคนที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แต่งตั้งได้สั่งซื้อสินค้าและมียอดหนี้ค้างชำระแก่จำเลยนั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเกี่ยวข้องด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมิได้ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย หรือกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่ที่โจทก์ทั้งสองจดบันทึกข้อมูลในการแต่งตั้งสาวจำหน่ายจำนวน 2 คน โดยประมาทเลินเล่อ เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตเช่นนี้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสอง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 108,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 25,500 บาท กับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 11,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า หลังจากศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจสอบข้อเท็จจริงอีกแต่ต้องสืบพยานไป การที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้จำเลยเตรียมข้อเท็จจริงทั้งสองสำนวนพร้อมพยานหลักฐานมาแถลงเพื่อให้โจทก์ทั้งสองยอมรับข้ออ้างหรือข้อเถียง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติเรื่องการจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้เป็นไปโดยประหยัด สะดวก และรวดเร็ว ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานได้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกันให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาท และบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลยอ่านให้คู่ความฟังและให้ลงลายมือชื่อไว้ โดยจะระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วให้ศาลแรงงานกำหนดวันสืบพยานไปทันที” นอกจากนี้มาตรา 50 วรรคสอง บัญญัติว่า “ก่อนที่ศาลแรงงานอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลแรงงานอาจทำการพิจารณาต่อไปอีกได้” เห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกันหรือให้คู่ความนำพยานมาสืบ หรือมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้เสมอก่อนที่ศาลแรงงานอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ทั้งนี้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29, 38, 42, 43 และมาตรา 45 การที่ศาลแรงงานสอบข้อเท็จจริงก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง ซึ่งศาลแรงงานย่อมมีอำนาจกระทำได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นหลังจากศาลแรงงานกลางจดประเด็นข้อพิพาทแล้ว ต่อมาศาลแรงงานกลางสั่งให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยเตรียมข้อเท็จจริงทั้งสองสำนวนและพยานหลักฐานที่จะใช้สนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงให้พร้อมเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายยอมรับ ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ มิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งไม่มีกฎหมายรับรองให้กระทำดังที่จำเลยอ้าง

จำเลยอุทธรณ์เป็นประการที่สองว่า จำเลยมีพยานหลักฐานแสดงต่อศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ทั้งจำเลยยังมีพยานบุคคลเป็นพยานอีก1 ปาก พยานจำเลยย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าพยานโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองมิได้ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองแต่งตั้งสาวจำหน่ายก็ดี สาวจำหน่ายแต่ละคนที่โจทก์ทั้งสองแต่งตั้งได้สั่งซื้อสินค้าและมีผลยอดหนี้ค้างชำระแก่จำเลยก็ดี โจทก์ทั้งสองมิได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยอุทธรณ์เป็นประการที่สามว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองประมาทเลินเล่อ ทั้งมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต การกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงครบองค์ประกอบฐานละเมิดแล้ว โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ตามคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยอ้างว่า โจทก์ทั้งสองทุจริตโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่แอบอ้างบุคคลหลายคนแต่งตั้งเป็นสมาชิกของจำเลยแล้ว สั่งซื้อสินค้าไปจากจำเลยเป็นจำนวนมาก เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ จำเลยเรียกให้บุคคลที่โจทก์ทั้งสองแอบอ้างชำระหนี้ ปรากฏว่าสมาชิกบางรายไม่มีตัวตน บางรายไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกและไม่เคยสั่งซื้อสินค้าจากจำเลย การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเห็นได้ว่า จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเนื่องจากโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่ในการแต่งตั้งสมาชิก ต่อมาสมาชิกดังกล่าวสั่งซื้อสินค้าจากจำเลย และค้างชำระค่าสินค้า เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า การที่สาวจำหน่ายทั้งสิบคนที่โจทก์ทั้งสองแต่งตั้งได้สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยและมียอดหนี้ค้างชำระนั้น โจทก์ทั้งสองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โจทก์ทั้งสองมิได้ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในการแต่งตั้งสาวจำหน่ายที่ชื่อกรุณาภรณ์ และนายโรจนะ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จดบันทึกข้อมูลตามคำบอกเล่าของบุคคลดังกล่าวลงในทะเบียนแต่งตั้งโดยโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2มิได้ตรวจสอบหลักฐานทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทั้งมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไป โดยถูกต้องและสุจริตตามที่จำเลยอ้าง ก็เป็นคนละกรณีกับสาวจำหน่ายที่ชื่อกรุณาภรณ์และนายโรจนะสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยและค้างชำระค่าสินค้าดังกล่าว โจทก์ทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้งแก่จำเลย

จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยจำเลยแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ทั้งสองว่าทุจริตต่อหน้าที่ คดีของโจทก์ที่ 1 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการส่วนคดีของโจทก์ที่ 2 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดนครปฐมการพิพากษาคดีนี้ต้องถือข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนี้ไปโดยไม่ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นลูกจ้างฟ้องจำเลยผู้เป็นนายจ้างเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าจ้างค้างจ่ายและเงินทดรองจ่าย แม้จำเลยแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองว่าทุจริตต่อหน้าที่ และจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากการที่สาวจำหน่ายที่โจทก์ทั้งสองแต่งตั้งได้สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยและมียอดหนี้ค้างชำระจากโจทก์ทั้งสอง ก็เป็นเพียงการฟ้องเรียกค่าสินค้าที่ค้างชำระเท่านั้น ย่อมไม่มีผลให้คดีนี้กลายเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา นอกจากนี้คดีอาญาซึ่งจำเลยแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ที่ 1 ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ ส่วนโจทก์ที่ 2 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดนครปฐม การที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาคดีนี้โดยไม่รอฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share