คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าเมื่อศาลสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนอยู่ต่อไปหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
การที่พระราชบัญญัติล้มละลายบัญญัติให้มีการพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ และให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ ก็เพื่อจุดประสงค์ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งแก่เจ้าหนี้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้แทนลูกหนี้ครบถ้วน และหนี้สินของลูกหนี้ได้รับชำระเต็มจำนวนแล้ว ซึ่งศาลก็ได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้วเช่นนี้ จึงมีผลเท่ากับว่าศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไปด้วยในตัว อำนาจในการที่จะร้องขอให้เพิกถอนการโอนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงสิ้นสุดลง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนและขายฝากที่พิพาทระหว่างนางสมศรี สมิตะศิริ หรือ ณ ลำปาง กับผู้คัดค้าน และให้กลับสู่สภาพเดิมหากไม่สามารถกลับคืนฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านร่วมกันชดใช้เงิน 285,000 บาท แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีได้ความตามท้องสำนวนว่าลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2504 และถูกพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2506 ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2516 ระหว่างที่ลูกหนี้ยังเป็นบุคคลล้มละลายอยู่ ลูกหนี้ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดที่ 22255 ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 10 ไร่ ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองมีกำหนดหนึ่งปีเป็นจำนวนเงิน 285,000 บาท และผู้ขายฝาก (ลูกหนี้) ได้รับเงินจากผู้ซื้อฝาก (ผู้คัดค้าน) เป็นการเสร็จแล้ว การซื้อขายได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.พ.ท. 2 ครบกำหนดไถ่แล้วลูกหนี้ไม่ไถ่ถอน

วันที่ 29 กรกฎาคม 2520 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนการโอนและการขายฝากโดยอ้างว่าลูกหนี้กระทำไปโดยไม่มีอำนาจ สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ผู้คัดค้านทั้งสองต่างคัดค้าน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2522 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนและขายฝากที่ดินโฉนดพิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้าน และให้กลับสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 285,000 บาท แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง

วันที่ 5 กันยายน 2522 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลแพ่ง ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาต่อมา โดยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2522

วันที่ 26 กันยายน 2522 ผู้อำนวยการกอง กองพิทักษ์ทรัพย์กรมบังคับคดี มีหนังสือถึงศาลแพ่งอ้างว่า มีผู้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แทนลูกหนี้ผู้ล้มละลาย ดังนั้นหนี้สินของผู้ล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว ขอให้ศาลยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(3)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ศาลแพ่งนัดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้โจทก์และผู้นำเงินมาชำระมาพร้อมกัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ไม่คัดค้าน

วันที่ 10 ตุลาคม 2522 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้และแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ

ปัญหาที่จะต้องพิจารณาในเบื้องแรกมีว่า เมื่อศาลแพ่งได้สั่งให้ยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้เสียแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดพิพาทอยู่ต่อไปหรือไม่ ปัญหาข้อนี้แม้ว่าไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลายมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้ผู้ล้มละลายได้รับความเป็นธรรมในการรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้โดยเสมอภาคกัน และในขณะเดียวกันก็เพื่อช่วยลูกหนี้ผู้ล้มละลายได้ มีโอกาสตั้งตัวใหม่ได้โดยเร็วการที่พระราชบัญญัติล้มละลายได้บัญญัติให้มีการพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้และให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ก็เพื่อจุดประสงค์ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งแก่เจ้าหนี้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานของผู้อำนวยการกอง กองพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีว่า มีผู้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้แทนลูกหนี้ครบถ้วนและหนี้สินของลูกหนี้ได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว (ถ้อยคำสำนวนอันดับที่ 178) และศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้แล้วเช่นนี้ จึงมีผลเท่ากับว่าศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไปในตัว อำนาจในการที่จะร้องขอให้เพิกถอนการโอนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงสิ้นสุดลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนต่อไปได้ เมื่อได้วินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจดำเนินคดีต่อไปแล้ว ฎีกาที่ผู้คัดค้านฎีกาขึ้นมาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ผู้ร้องเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ”

Share