คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2927-2929/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 40,42 ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะสั่งให้ผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงานรวมทั้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองระงับการก่อสร้างที่ผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และหากการกระทำนั้นไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ก็มีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนภายในเวลาที่กำหนด บทกฎหมายนี้ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งรวมไปถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนดังกล่าวด้วย ดังนั้นแม้จำเลยซื้ออาคารจาก อ. มาโดยสุจริตโดยไม่ได้ดัดแปลงต่อเติมอาคารพิพาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทในส่วนที่ผิดแบบแปลนก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ หากจำเลยต้องเสียหายอย่างใดก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวเอากับผู้ที่ทำให้จำเลยต้องรับผิดรื้อถอนอาคารต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องมีใจความรวมได้ว่านายอนันต์ กฤตยานุกูล ได้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร ต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าอาคารตึกแถวที่ทำการก่อสร้างคืออาคารตึกแถวห้องเลขที่ 421/1-3 ห้องเลขที่ 421/4 และห้องเลขที่ 421/5-6 ได้ทำการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30, 74, 76, 77และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 40, 42อันไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ โจทก์มีคำสั่งแจ้งให้นายอนันต์ กฤตายานุกูล ระงับการก่อสร้าง และให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติม แต่นายอนันต์ กกฤตยานุกูล เพิกเฉยโจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี ซึ่งนายอนันต์กฤตยานุกูล ให้การรับสารภาพและยินยอมให้เปรียบเทียบปรับไปแล้วต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งตึกแถวห้องเลขที่ 421/1-3 จำเลยที่ 2 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งตึกแถวห้องเลขที่ 421/4 และจำเลยที่ 3 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งตึกแถวห้องเลขที่ 421/5-6 โจทก์ได้มีคำสั่งแจ้งให้จำเลยทั้งสามทำการรื้อถอนอาคารตึกซึ่งจำเลยแต่ละคนเป็นเจ้าของผู้ครอบครองในส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมโดยผิดแบบแปลนแล้วจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 30 วัน และมิได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารตึกแถวห้องเลขที่ 421/1-3ให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนอาคารตึกแถวห้องเลขที่ 421/4 ให้จำเลยที่ 3รื้อถอนอาคารตึกแถวห้องเลขที่ 421/5-6 ในส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่า การก่อสร้างอาคารตึกแถวผิดแบบแปลน โจทก์เพียงแต่สั่งให้นายอนันต์ กฤตยานุกูล ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนตึกแถวส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมและได้ดำเนินคดีทางอาญาเท่านั้นโจทก์หาได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้โจทก์พิจารณาและสั่งและมาตรา 42 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 43 วรรคหนึ่ง และสั่งห้ามบุคคลใดใช้อาคารตึกแถวไม่ จนกระทั่งมีการโอนอาคารตึกแถวให้จำเลยทั้งสาม อาคารตึกแถวที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน การก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมไม่ขัดต่อกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ โจทก์ไม่อาจขอให้บังคับจำเลยทั้งสามผู้ทำการโดยสุจริตให้รื้อถอนได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารในส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหากจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงเหลือปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารพิพาท หากแต่ได้ซื้อจากนายอนันต์มาโดยสุจริตในสภาพที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่านายอนันต์ก่อสร้างอาคารพิพาทผิดแบบแปลนก็มิได้มีการแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40, 42 โจทก์จึงจะขอให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมไม่ได้นั้น คดีได้ความจากคำเบิกความของนายไกรสีห์ หล่ำวิไลเกษร พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการปลูกสร้างอาคารพิพาท ประกอบกับเอกสารหมาย จ.6 และ จ.8โดยจำเลยทั้งสามไม่นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อนายไกรสีห์ตรวจพบว่านายอนันต์ก่อสร้างอาคารพิพาทผิดแบบแปลนได้รายงานให้เขตพญาไททราบ เขตพญาไทได้แจ้งให้นายอนันต์ระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารพิพาทในส่วนที่ผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตรวม 8 ครั้ง แต่นายอนันต์ไม่ปฏิบัติตาม เขตพญาไทจึงแจ้งความดำเนินคดีแก่นายอนันต์รวม 8 คดี และเจ้าพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับนายอนันต์ทุกคดี ดังนี้จึงเห็นได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการตามความในมาตรา 40, 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ควบถ้วนแล้ว ส่วนข้อที่ว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ดัดแปลงต่อเติมอาคารพิพาท หากแต่ได้ซื้ออาคารดังกล่าวจากนายอนันต์ มาโดยสุจริต จึงบังคับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของในภายหลังไม่ได้นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40, 42 ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะสั่งให้ผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงานรวมทั้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองระงับการก่อสร้างที่ผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และหากการกระทำนั้นไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ก็มีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนภายในเวลาที่กำหนด ตามบทกฎหมายนี้ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งรวมไปถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนดังกล่าวด้วย ดังนั้นแม้จะฟังว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้สุจริตดังที่อ้าง แต่เมื่อโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารพิพาทในส่วนที่ผิดแบบแปลนการก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้จำเลยทั้งสามทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสามได้ตามมาตรา 42 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว หากจำเลยทั้งสามต้องเสียหายอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวเอากับผู้ที่ทำให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดรื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานต่อไป ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าหนังสือที่แจ้งให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมเอกสารหมาย จ.12, จ.14 และ จ.16 ลงนามโดยผู้ช่วยหัวหน้าเขตพญาไทมิใช่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมิใช่คำสั่งของโจทก์โดยชอบนั้นเห็นว่าปัญหาดังกล่าวมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share