คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2098/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าไปตรวจดูเอกสารต่างๆของบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1207 นั้นหมายถึงให้เข้าไปตรวจดูเอกสารเกี่ยวกับการจดบันทึกรายงานการประชุมและข้อมติทั้งหมดเท่านั้นไม่ได้หมายถึงให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิตรวจบัญชีของบริษัทหรือมีสิทธิเข้าตรวจกิจการของบริษัทแต่อย่างใดผู้ถือหุ้นจึงมิอาจเข้าไปในบริษัทเพื่อตรวจสอบบัญชีและตรวจกิจการโดยลำพังได้ดังนั้นเมื่อคนยามเฝ้าประตูไม่ยอมให้ผู้ถือหุ้นเข้าไปในบริษัทตามคำสั่งของกรรมการผู้จัดการโดยมิได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถือหุ้นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายเสรีภาพชื่อเสียงหรือทรัพย์สินอันเป็นการข่มขืนใจผู้ถือหุ้นกรรมการผู้จัดการจึงหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองต่างเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสุราเจริญไทย จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 2เป็นกรรมการ โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าออกในสถานที่ต่าง ๆของบริษัทรวมทั้งตรวจสอบการดำเนินธุรกิจทุกอย่างของบริษัทเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของโจทก์ โจทก์ขอเข้าตรวจโรงงานของบริษัทแต่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้บริวารซึ่งมีปืนเป็นอาวุธขัดขวางห้ามมิให้โจทก์เข้าไปในโรงงาน การสั่งการของจำเลยทั้งสองเป็นการข่มขืนใจโจทก์ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของโจทก์ทั้ง 2 ที่โจทก์ได้แสดงคำสั่งศาลถึงสิทธิของโจทก์ว่ามีอย่างไรบ้าง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 83, 84, 91 และ 309

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ห้ามมิให้โจทก์เข้าไปในโรงงานซึ่งโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าไปได้ และการห้ามของจำเลยมีลักษณะว่าถ้าโจทก์เข้าไปพวกของจำเลยจะทำร้ายร่างกายอย่างแน่นอน เช่นนี้เป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด อันเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วยพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309จำคุก 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัทสุราเจริญไทย จำกัด ที่โจทก์จะเข้าไปในโรงงานสุราครั้งแรกนั้น ก่อนไปโจทก์ได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจว่า โจทก์จะเข้าไปในโรงงานสุราตามคำสั่งศาลแพ่งเพื่อตรวจสอบบัญชีในฐานะผู้ถือหุ้น ความจริงคำสั่งศาลแพ่งเพียงแต่วินิจฉัยว่าโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าไปตรวจดูเอกสารต่าง ๆ ของบริษัทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1207 ซึ่งหมายความถึงเอกสารเกี่ยวกับการจดบันทึกรายงานการประชุมและข้อมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้นและของที่ประชุมกรรมการหาใช่ให้โจทก์เข้าไปตรวจสอบบัญชีของบริษัทแต่อย่างใดไม่ หลังจากโจทก์เข้าไปในโรงงานสุราไม่ได้ โจทก์ได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจอีกครั้งหนึ่ง อ้างว่าโจทก์ได้ไปที่โรงงานสุราเพื่อนำเจ้าพนักงานศาลไปส่งคำสั่งศาลแพ่งให้แก่บริษัท ที่โจทก์จะเข้าไปในโรงงานสุราครั้งที่สองแล้วเข้าไปไม่ได้ โจทก์ได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจว่า โจทก์จะเข้าไปเพื่อตรวจสอบบัญชี และครั้งที่สามโจทก์ได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจว่า โจทก์จะเข้าไปในโรงงานเพื่อตรวจกิจการโรงงาน ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดมีอยู่เพียงใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้ว เช่น สิทธิที่จะตรวจดูสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1139 สิทธิที่จะเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 1176สิทธิที่จะลงคะแนนตามมาตรา 1182 สิทธิที่จะร้องขอให้มีการเรียกประชุมวิสามัญตามมาตรา 1173 สิทธิจะขอตรวจดูเอกสารเกี่ยวกับการจดบันทึกรายงานการประชุมและข้อมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้นและของที่ประชุมกรรมการตามมาตรา 1207 ไม่มีบทมาตราใดให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิตรวจสอบบัญชีของบริษัทซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้สอบบัญชีโดยเฉพาะตามมาตรา 1213 หรือให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าตรวจกิจการของบริษัทได้ หากผู้ถือหุ้นประสงค์จะตรวจการงานของบริษัท ก็จะต้องดำเนินการทำเรื่องราวเสนอให้รัฐมนตรีตั้งผู้ตรวจเข้าตรวจงานของบริษัทตามมาตรา 1215 ถึง 1218 ผู้ถือหุ้นโดยลำพังหามีสิทธิเข้าตรวจกิจการงานของบริษัทไม่ ดังนั้น ที่โจทก์อ้างว่าจะเข้าไปในโรงงานสุราเพื่อตรวจสอบบัญชีและตรวจกิจการโดยลำพังจึงมิอาจจะกระทำได้นอกจากนี้ที่คนยามเฝ้าประตูโรงงานไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปในโรงงานนั้นข้อเท็จจริงก็ได้ความแต่เพียงว่าคนยามไม่ยอมเปิดประตูโรงงานให้โจทก์เข้าไป หาได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้โจทก์กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของโจทก์ อันเป็นการข่มขืนใจโจทก์ไม่ ถึงหากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งห้ามมิให้คนยามเปิดประตูให้โจทก์เข้าไปในโรงงาน การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share