คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302-1303/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์ซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์อันรวมถึงดอกเบี้ยซึ่งคำนวณและถือได้เป็นรายวัน ดังนั้น ผู้จำนองจึงต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่วันจดทะเบียนจำนองเป็นต้นไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาทรัสต์รีซีทไว้กับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ตามสัญญาดังกล่าว และทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 5,143,887.18บาท และหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 209,104.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวร้อยละ 18 และ 15 ต่อปีตามลำดับหากไม่ชำระให้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 350,000 บาท จึงรับผิดเพียงจำนวนดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน 4,351,505.78บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 2,704,742.28บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดจำนวน 559,104.35 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วนที่ 1 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นไปและในต้นเงิน 350,000 นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นไปและในต้นเงิน 112,412.20 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2525 เป็นต้นไปกับให้จำเลยที่ 3 รับผิดจำนวน 2,409,104.35 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 2,200,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นไป และในต้นเงิน 112,412.20บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2525 เป็นต้นไป ถ้าจำเลยที่ 2ที่ 3 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบก็ให้บังคับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำนอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน2,592,330.08 บาท พร้อมดอเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2525 และชำระดอกเบี้ยต่อไปในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวในวันที่ 21 มีนาคม 2525 นับแต่วันที่ 22มีนาคม 2525 และชำระเงินจำนวน 112,412.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2520 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ก็ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ดังกล่าวแทนโดยให้จำเลยที่ 2และที่ 3 รับผิดจำนวน 350,000 บาท และ 2,220,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 มีนาคม2525 และร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดจำนวนเงิน 112,412.20 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 30กันยายน 2520 ทั้งนี้จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไม่มีฝ่ายใดฎีกาจึงยุติสำหรับหนี้ตามสัญญากู้เงินเกินบัญชี ตามฎีกาโจทก์ว่าจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดแทนจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่ำไปกว่าที่โจทก์ควรได้รับ กล่าวคือศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดเรื่องดอกเบี้ยนับตั้งแต่ 22 มีนาคม 2525อันเป็นวันครบกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์นั้นไม่ชอบ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วยคือ (1) ดอกเบี้ย ฯลฯ และตามมาตรา 111 บัญญัติไว้มีใจความว่าดอกเบี้ยย่อมคำนวณและถือได้เป็นรายวัน ดังนั้นเมื่อมีการจำนองเป็นประกันหนี้แล้วทรัพย์สินที่จำนองต้องเริ่มผูกพันรับผิดตั้งแต่วันที่เอาทรัพย์สินจำนองจำเลยที่2 จดทะเบียนจำนองไว้เป็นเงิน 350,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ได้จำนองที่ดินไ้กับโจทก์เพื่อประกันหนี้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2521 เป็นเงิน 2,200,000 บาท ซึ่งในวันที่ 29มีนาคม 2521 อันเป็นวันที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 เริ่มรับผิดเรื่องดอกเบี้ยนั้นปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.217ว่า วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่จำนวน 359,969.45 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 แล้ว และหลังจากนั้นหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็เพิ่มขึ้นจากจำนวนดังกล่าวโดยลำดับ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินตามที่จดทะเบียนจำนองคือ 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปีโดยคิดแบบทบต้นจนถึงวันที่ครบกำหนดการบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบังคับจำนองถือวันที่ 21 มีนาคม 2525 ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นจากต้นเงิน 350,000 บาทจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ มิใช่คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นต่อไปจากต้นเงินจำนวน 634,085.65 บาท ตามที่โจทก์ฎีกา เพราะจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในต้นเงินไม่เกิน 350,000 บาทเท่านั้นส่วนกรณีของจำเลยที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ 2,200,000 บาท และโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 3รับผิดเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองคือวันที่ 29 มีนาคม 2521 จากต้นเงิน 1,869,969.45 บาท อันเป็นจำนวนที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ในวันดังกล่าวนั้นปรากฏว่าตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.217 จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์อยู่ตามจำนวนหนี้ดังกล่าวจริง หลังจากนั้นหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็เพิ่มขึ้นจากจำนวนดังกล่าวโดยลำดับนอกจากต้นเงินแล้วจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่วันจดทะเบียนจำนองอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน1,869,969.45 บาท คิดแบบทบต้นไปจนถึงวันที 21 มีนาคม 2525เช่นกัน แต่จำนวนต้นเงินนั้นจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดไม่เกิน2,200,000 บาท ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบ้นต่อไปจึงต้องคิดจากต้นเงิน 2,200,000 บาท เท่านั้น มิใช่ต้นเงินจำนวน3,385,427.04 บาทตามที่โจทก์ฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3ชำระหนี้ให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3รับผิดในต้นเงินจำนวน 350,000 บาท และ 2,200,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 350,000 บาท และ1,869,969.45 บาทนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2521 ถึงวันที่ 21 มีนาคม2525 ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกันแบบไม่ทบต้นในต้นเงิน 350,000 บาท และ 2,200,000 บาทตามลำดับ จนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share