แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” เห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้อง การประปาส่วนภูมิภาค ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ มีอำนาจในการผลิต การส่ง และจำหน่ายน้ำประปา โดยมีอำนาจเดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์ไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ๆ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่มาตรา ๒๙ (๑) กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการสร้างและบำรุงรักษาระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา… ให้พนักงานหรือลูกจ้างมีอำนาจใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลใด ๆ เป็นการจำเป็นสำหรับการป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา…และมาตรา ๓๒ กำหนดให้ในกรณีจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหาย พนักงานและลูกจ้างอาจเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจ ซ่อมแซมหรือแก้ไขระบบการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปาได้…เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ในการบำรุงรักษาและป้องกันอันตรายจากความเสียหายที่เกิดจากท่อประปาขนาดใหญ่แตก จนเป็นเหตุให้น้ำประปาพุ่งเข้ามาในถนน ทั้งภายหลังเกิดเหตุไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลหรืออำนวยความสะดวกและติดตั้งป้ายสัญญาณเตือน เป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ขับผ่านบริเวณดังกล่าวเสียหลักหมุนชนเสาป้ายข้างทางได้รับความเสียหายและผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง