คำวินิจฉัยที่ 73/2562

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง โดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ให้นิยามคำว่า “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และนิยามคำว่า “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง คดีนี้โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม จำเลยที่ ๒ และโรงเรียนอัสสัมชัญ จำเลยที่ ๓ เป็นโรงเรียนเอกชนในระบบที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงมิใช่ กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อาจเป็นหน่วยงานทางปกครองและอาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองได้ หากได้กระทำการใดโดยใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งได้แก่การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ นอกเหนือจากนี้แล้ว การดำเนินการของโรงเรียนเอกชนย่อมเป็นเรื่องของนิติบุคคลเอกชนที่อยู่ภายใต้ระบบกฎหมายเอกชนเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไป เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามไม่ขึ้นเงินบำนาญในอัตราร้อยละ ๑๐ ของเงินบำนาญที่ได้ในเดือนพฤษภาคม ให้แก่โจทก์ และไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ กับจำเลยทั้งสามในการจัดทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่งครู เพื่อทำงานให้กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มิได้เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในการทำสัญญาดังกล่าว จึงไม่ทำให้ตนมีฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองอันจะถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครอง สัญญาจ้างครูผู้สอนในคดีนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบของสัญญาทางปกครอง ตามบทนิยามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นนิติสัมพันธ์ที่โจทก์ตกลงจะทำงานให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ สัญญาพิพาทจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ และคู่สัญญาจึงอยู่ในฐานะลูกจ้างนายจ้าง ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายเงินบำนาญโดยกล่าวอ้างว่ามีสิทธิตามสัญญาและระเบียบ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) ซึ่งเป็นคดีแรงงานที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และเป็นคดีพิพาทที่ได้รับ การยกเว้นไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

Share