คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6386/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ โจทก์ลงลายมือชื่อโจทก์แล้ว โดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ เหตุที่ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องน่าจะเป็นเพราะโจทก์พิมพ์คำขอท้ายฟ้องเฉพาะด้านหน้ามิได้พิมพ์แบบพิมพ์ด้านหลังซึ่งจะมีช่องลายมือชื่อผู้เรียงหรือผู้พิมพ์ไว้ จึงถือเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่สั่งให้โจทก์แก้ไขก่อนจึงไม่ถูกต้อง เห็นควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด หากดำเนินการแล้วเสร็จให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2562)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352 และให้จำเลยคืนเงิน 3,170,606.58 บาท แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหายักยอกตามฟ้อง ข้อ 1 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก และกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดซึ่งเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องเนื่องจากฟ้องโจทก์ไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ฟ้องนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 บัญญัติว่า “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง” และมาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” ตามฟ้องโจทก์ปรากฏว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อโจทก์แล้วโดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ เหตุที่ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องน่าจะเป็นเพราะโจทก์พิมพ์คำขอท้ายฟ้องเฉพาะด้านหน้ามิได้พิมพ์แบบพิมพ์ด้านหลังซึ่งจะมีช่องลายมือชื่อผู้เรียงหรือผู้พิมพ์ไว้ จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่สั่งให้โจทก์แก้ไขก่อนจึงไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดี หลังจากที่โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวแล้ว ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดที่ไม่ลงชื่อผู้เรียง ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share