แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจับกุมโจทก์ทั้งสี่มีมูลเหตุมาจากการที่ ช. แจ้งเรื่องไปที่ศูนย์วิทยุสื่อสาร สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ว่าโจทก์ที่ 2 อ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจพูดจาเชิงข่มขู่ให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ต จำเลยที่ 13 จึงไปร้านที่เกิดเหตุตามคำสั่งของจำเลยที่ 7 ช. ยืนยันข้อเท็จจริงตามที่แจ้ง จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก จึงติดตามจนพบรถกระบะที่โจทก์ทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะ ขอตรวจค้นพบบัตรคอนเสิร์ต 5 ใบ กับเงินสด 7,000 บาท ในกระเป๋าสะพายของโจทก์ที่ 1 กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวกเชื่อโดยสุจริตว่ามีเหตุการณ์ดังที่ ช. แจ้งเกิดขึ้นจริง จึงมีหลักฐานตามสมควรว่าโจทก์ทั้งสี่น่าจะได้กระทำความผิดอาญา ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน เจ้าพนักงานตำรวจไม่ทราบว่าโจทก์ทั้งสี่พักอาศัยอยู่ที่ใด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่จะหลบหนี และหากต้องไปขอให้ศาลออกหมายจับก่อน อาจจะไม่ได้ตัวโจทก์ทั้งสี่มาดำเนินคดี ถือได้ว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับ การจับกุมโจทก์ทั้งสี่จึงต้องด้วยข้อยกเว้นของการจับโดยไม่มีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ประกอบมาตรา 66 (2) จึงเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 157, 200, 310
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 310 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 14
โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก จับกุมโจทก์ทั้งสี่ที่บริเวณสี่แยกไทยออยล์ในคืนเกิดเหตุโดยไม่มีหมายจับ และควบคุมตัวโจทก์ทั้งสี่ไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง จนกระทั่งเวลาประมาณ 13 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ 1 จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสี่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 310 วรรคแรก และ 200 วรรคสอง ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 บัญญัติว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ … (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้” และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เหตุที่จะออกหมายจับมีได้ดังต่อไปนี้ … (2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุประการอื่น” ดังนี้ การจับโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลที่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับมีอำนาจกระทำได้ จึงต้องเป็นกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี อีกทั้งยังต้องมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนางชนานันท์ มีข้อความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะที่นางชนานันท์อยู่ที่ร้านเกิร์ลเฟรนด์คาราโอเกะ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่งกายคล้ายเจ้าพนักงานตำรวจนอกเครื่องแบบ คล้องบัตรตราโล่เช่นเดียวกับที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนใช้กัน และพกพาอุปกรณ์สื่อสารที่เอว เดินลงจากรถกระบะไปหานางชนานันท์ มีพวกอีก 2 คน นั่งรออยู่ในรถ โจทก์ที่ 2 แจ้งนางชนานันท์ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมาจากส่วนกลาง ขอให้ช่วยซื้อบัตรคอนเสิร์ตสัก 3 ใบ ใบละ 1,000 บาท เมื่อนางชนานันท์บ่ายเบี่ยง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แสดงอาการไม่พอใจ โจทก์ที่ 2 ถามว่ามีเด็กในร้านกี่คน มีใบอนุญาตจำหน่ายสุราต่างประเทศหรือไม่ นางชนานันท์ไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบใบอนุญาตและจับผิดในเรื่องอื่นๆ จึงตกลงซื้อ 1 ใบ และมอบเงิน 1,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 เมื่อพวกของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกไปจากร้าน นางชนานันท์โทรศัพท์แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังทราบ ต่อมามีเจ้าพนักงานตำรวจโทรศัพท์แจ้งนางชนานันท์ว่า สกัดจับกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้แล้ว ให้ไปที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง นางชนานันท์ยืนยันให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสี่จนถึงที่สุด คำให้การชั้นสอบสวนของนางชนานันท์ สอดคล้องกับคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีสมภพ ที่ว่า คืนเกิดเหตุขณะที่พยานประจำอยู่ที่ศูนย์วิทยุสื่อสาร สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากผู้หญิงคนหนึ่งว่า มีกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจากส่วนกลางมาขายบัตรการกุศลโดยบังคับขู่เข็ญที่ร้านเกิร์ลเฟรนด์คาราโอเกะ นางชนานันท์แจ้งด้วยว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวใช้รถกระบะ ยี่ห้อนิสสัน สีทอง หมายเลขทะเบียน ถง 1480 เป็นพาหนะ พยานจดบันทึกข้อความที่รับแจ้งไว้โดยย่อ แล้วแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจไปตรวจสอบ เหตุการณ์หลังจากนั้นจำเลยที่ 7 และที่ 13 เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 7 ทราบจากศูนย์วิทยุสื่อสารว่า มีกลุ่มบุคคลนำบัตรคอนเสิร์ตไปเร่ขายโดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและพูดจาในเชิงข่มขู่ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับพาหนะของกลุ่มบุคคลดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 7 ให้จำเลยที่ 13 ไปที่ร้านเกิร์ลเฟรนด์คาราโอเกะ จำเลยที่ 13 พบนางชนานันท์เจ้าของร้าน นางชนานันท์ยืนยันข้อเท็จจริงที่แจ้งไปยังศูนย์วิทยุสื่อสาร จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก ออกติดตามรถกระบะของกลุ่มบุคคลดังกล่าว และพบจอดรอสัญญาณไฟจราจรอยู่ที่สี่แยกไทยออยล์ จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก เข้าไปแสดงตัวขอตรวจค้น พบบัตรคอนเสิร์ต “ธรรมะคละกับเพลง” จำนวน 5 ใบ และเงินสด 7,000 บาท ในกระเป๋าสะพายของโจทก์ที่ 1 แล้วนำตัวโจทก์ทั้งสี่ไปที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง คำให้การชั้นสอบสวนของนางชนานันท์จึงสอดคล้องเชื่อมโยงกับคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีสมภพและคำเบิกความของจำเลยที่ 7 และที่ 13 เป็นลำดับ หากนางชนานันท์ไม่ได้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นไปที่ศูนย์วิทยุสื่อสาร สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง และร้อยตำรวจตรีสมภพไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจไปตรวจสอบ ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 7 จะต้องให้จำเลยที่ 13 ไปที่ร้านเกิร์ลเฟรนด์คาราโอเกะ และไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก จะต้องติดตามไปขอตรวจค้นรถกระบะของโจทก์ทั้งสี่ในขณะที่จอดรอสัญญาณไฟจราจร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางชนานันท์มิได้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตด้วยความเต็มใจ แต่ซื้อเพราะโจทก์ที่ 2 อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมาจากส่วนกลางและพูดจาในเชิงข่มขู่ ตามที่ปรากฏในบันทึกคำให้การของนางชนานันท์ และฟังได้ว่า การจับกุมโจทก์ทั้งสี่มีมูลเหตุมาจากการที่นางชนานันท์แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นดังกล่าวไปที่ศูนย์วิทยุสื่อสาร สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง แล้วเจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์วิทยุสื่อสารแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจไปตรวจสอบ เมื่อจำเลยที่ 13 ไปร้านที่เกิดเหตุตามคำสั่งของจำเลยที่ 7 นางชนานันท์ก็ยืนยันข้อเท็จจริงตามที่แจ้ง จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวกจึงติดตามจนพบรถกระบะที่โจทก์ทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะ และเมื่อเข้าตรวจค้นก็พบบัตรคอนเสิร์ต “ธรรมะคละกับเพลง” จำนวน 5 ใบ กับเงินสด 7,000 บาท ในกระเป๋าสะพายของโจทก์ที่ 1 กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก เชื่อโดยสุจริตว่ามีเหตุการณ์ดังที่นางชนานันท์แจ้งเกิดขึ้นจริง การจับกุมโจทก์ทั้งสี่ที่บริเวณสี่แยกไทยออยล์จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมซึ่งมีจำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวกรวมอยู่ด้วย มีหลักฐานตามสมควรแล้วว่าโจทก์ทั้งสี่น่าจะได้กระทำความผิดอาญา อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน โจทก์ที่ 3 ขับรถพาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ออกไปจากร้านของนางชนานันท์โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจะไปที่ใด และขณะนั้นเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมยังไม่มีใครทราบว่าโจทก์ทั้งสี่พักอาศัยอยู่ที่ใด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่จะหลบหนี และหากจะต้องไปขอให้ศาลออกหมายจับก่อนอาจจะไม่ได้ตัวโจทก์ทั้งสี่มาดำเนินคดี ถือได้ว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับ การจับกุมโจทก์ทั้งสี่ที่บริเวณสี่แยกไทยออยล์โดยไม่มีหมายจับจึงต้องด้วยข้อยกเว้นของการจับโดยไม่มีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (3) ประกอบมาตรา 66 (2) จึงเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อการจับกุมโจทก์ทั้งสี่ที่บริเวณสี่แยกไทยออยล์เป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมาย การควบคุมตัวโจทก์ทั้งสี่ไปที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังหลังจากนั้นย่อมเป็นการชอบด้วยกฎหมายด้วย การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมที่มีจำเลยที่ 7 และที่ 13 รวมอยู่ด้วยในช่วงนี้จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยอื่นมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 7 และที่ 13 กระทำการดังกล่าวด้วยหรือไม่
ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาด้วยว่า ขณะที่โจทก์ทั้งสี่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง จำเลยที่ 1 ประวิงการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสี่ และสั่งการให้ใส่กุญแจมือโจทก์ทั้งสี่ เป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังให้โจทก์ทั้งสี่ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้น ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 ประวิงการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่ฎีกาโดยอ้างถึงคำเบิกความของนายรัตนพัฒน์หรือเกรียงศักดิ์ ทนายความ ที่ว่า คืนเกิดเหตุนายรัตนพัฒน์ติดต่อขอปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสี่ แต่ได้รับแจ้งว่ายังปล่อยชั่วคราวไม่ได้เพราะต้องมอบตัวโจทก์ทั้งสี่ให้พนักงานสอบสวนก่อน เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เบิกความด้วยว่า เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไปถึงสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง จำเลยที่ 1 สั่งการให้จำเลยที่ 7 พาโจทก์ทั้งสี่ไปทำประวัติ แล้วจำเลยที่ 4 และที่ 7 ให้โจทก์ที่ 1 พาไปตรวจค้นห้องพักของโจทก์ทั้งสี่ที่โรงแรมมีสุข อำเภอศรีราชา ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืน จำเลยที่ 6 นำบันทึกการจับกุมมาให้โจทก์ทั้งสี่ลงลายมือชื่อ แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ยอมลงลายมือชื่อเพราะเห็นว่าข้อความไม่ตรงตามความเป็นจริง หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสี่ถูกส่งไปให้ร้อยตำรวจเอกนิติภูมิ พนักงานสอบสวนสอบปากคำเมื่อเวลาประมาณ 3 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น โดยมีนายรัตนพัฒน์ทนายความ อยู่ด้วย ซึ่งการจัดทำบันทึกการจับกุม การให้โจทก์ที่ 1 พาไปตรวจค้นห้องพัก และการสอบปากคำโจทก์ทั้งสี่โดยพนักงานสอบสวนดังกล่าว เป็นขั้นตอนปกติที่ต้องดำเนินการภายหลังจับกุมผู้ต้องหา นายรัตนพัฒน์เองก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ ส่วนที่อ้างว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งนายรัตนพัฒน์ว่า ต้องรอการนำตัวโจทก์ทั้งสี่ไปแถลงข่าวก่อน จึงจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสี่ได้นั้น จำเลยที่ 1 เบิกความว่า การนำตัวโจทก์ทั้งสี่ไปแถลงข่าวเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของพลตำรวจตรีคัชชา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ที่ไปสั่งการเกี่ยวกับการดำเนินคดีนี้ด้วยตนเองที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังในคืนเกิดเหตุ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวสอดคล้องกับภาพเคลื่อนไหวในแผ่นวีดิทัศน์ที่ปรากฏว่า มีภาพพลตำรวจตรีคัชชากล่าวตำหนิโจทก์ทั้งสี่ในทำนองว่า ทำให้ภาพลักษณ์ของเจ้าพนักงานตำรวจเสียหาย และให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การนำตัวโจทก์ทั้งสี่ไปแถลงข่าวเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยที่ 1 ดำเนินการโดยพลการไม่ ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสี่ยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะประวิงมิให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ส่วนที่ปรากฏว่ามีการใส่กุญแจมือโจทก์ทั้งสี่ในขณะที่จำเลยที่ 1 แถลงข่าวนั้น เมื่อพิจารณาภาพเคลื่อนไหวในแผ่นวีดิทัศน์ ปรากฏว่า สถานที่แถลงข่าวอยู่นอกอาคารสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง การใส่กุญแจมือโจทก์ทั้งสี่ในขณะที่มีการแถลงข่าวเพื่อป้องกันการหลบหนี จึงเป็นเรื่องสามารถกระทำได้ ตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายอันเป็นภาพถ่ายโจทก์ทั้งสี่ขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังในช่วงเวลาอื่น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ถูกสวมกุญแจมือด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งใส่กุญแจมือโจทก์ทั้งสี่โดยไม่มีความจำเป็น การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในคืนเกิดเหตุ และมีการนำตัวโจทก์ทั้งสี่ไปแถลงข่าวโดยมีการใส่กุญแจมือในวันรุ่งขึ้นจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยอื่นมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ในข้ออื่น เพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน