คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตั้งแต่ก่อนจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินมาจากเจ้าของเดิม ย่อมต้องยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) บุคคลใดย่อมไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในทางดังกล่าวได้ ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะทำหนังสืออุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 โดยมีเจตนาให้ใช้แทนทางพิพาทส่วนแรกตามคำแนะนำขององค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกอง ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจมีผลให้ทางพิพาทส่วนแรกที่ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นกลับเป็นของจำเลยทั้งสองได้ เมื่อพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่คัดค้านการใด ๆ ข้อความดังกล่าวมีความหมายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองยอมอุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 ให้เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันทีที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แม้จะเป็นการกระทำหลังวันฟ้องคดีนี้ และคดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องต่อศาลปกครองขอเพิกถอนเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาเฉพาะทางพิพาทส่วนที่ 2 อยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม แต่ทางพิพาทส่วนที่ 2 ก็ยังไม่ได้ถูกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงยังคงเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทส่วนที่ 2 เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนตามทางนำสืบของคู่ความ มิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือพิพากษาเกินคำขอในส่วนทางพิพาทส่วนที่ 2 นี้เช่นกัน การที่จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงปิดทางพิพาทบางส่วนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ในการใช้ทาง จำเลยทั้งสองย่อมต้องรื้อถอนออกไปและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 10353 กว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินตกเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นโดยไม่มีค่าตอบแทนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1492 ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนให้ทางพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นโดยไม่มีค่าตอบแทนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1492 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไปเพื่อให้โจทก์สามารถใช้ทางพิพาทได้ดังเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและขนย้ายเศษวัสดุ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าขาดประโยชน์ 49,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าขาดประโยชน์ต่อไปอีกวันละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนกำแพงออกไปจากทางพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไปจากทางพิพาท ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเงิน 1,300 บาท และให้ชำระต่อไปอีกเดือนละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2558) จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไป กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมา 880 บาท แก่จำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ นางมาลัย นางสาวจรินทร์ นางสาวรุ่งรัตน์และจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1492 เป็นที่ดินแปลงใหญ่ของบิดามารดาของคู่ความทั้งสองฝ่ายซึ่งยังไม่ได้แบ่ง ทิศเหนือมีลำกระโดงยาวตามแนวเขตที่ดินเพื่อชักน้ำจากคลองบางราวนกเข้าในร่องสวน และมีคันดินติดลำกระโดงถัดเข้ามาในเขตที่ดินดังกล่าวสำหรับประชาชนทั่วไป พระภิกษุ รวมทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองใช้สัญจรผ่านเพื่อข้ามสะพานคลองบางราวนกไปวัดหูช้าง ขณะนั้นโจทก์ จำเลยทั้งสองและพี่น้องคนอื่นอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกอยู่ติดกันในที่ดินดังกล่าว ปี 2517 บิดาโอนที่ดินแปลงใหญ่ดังกล่าวให้โจทก์กับนางมาลัย และในปีเดียวกันโจทก์กับนางมาลัยได้แบ่งแยกเป็น 2 แปลง เป็นของโจทก์โฉนดเลขที่ 1492 และของนางมาลัยโฉนดเลขที่ 10353 ต่อมาปี 2520 โจทก์แบ่งที่ดินส่วนของโจทก์ให้นางสาววารินทร์กับนางสาวรุ่งรัตน์เป็นโฉนดเลขที่ 10354 และปี 2522 นางมาลัยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10353 แก่จำเลยทั้งสอง ประมาณปี 2535 ทางราชการสร้างถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ตัดผ่านลำกระโดงติดแนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งซื้อมาจากนางมาลัย และจำเลยทั้งสองได้สร้างบ้านใหม่ในที่ดินดังกล่าว ระหว่างนี้องค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกองได้ปรับปรุงทางเดินที่เป็นคันดินหลายครั้งเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สัญจรระหว่างถนนที่ตัดใหม่ไปวัดหูช้างได้สะดวก ซึ่งทางเดินที่เป็นคันดินที่อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองนี้ เดิมเป็นทางเดินคันดินในโฉนดเลขที่ 1492 ที่มีอยู่ก่อนที่บิดาจะโอนให้โจทก์กับนางมาลัย จนในที่สุดองค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกองได้ทำเป็นทางคอนกรีต ปี 2547 โจทก์ถมลำกระโดงในเขตที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองตลอดแนวตั้งแต่สะพานข้ามคลองไปวัดหูช้างถึงถนนอัจริยะประสิทธิ์ และปรับปรุงลงหินคลุกในปี 2554 เพื่อให้รถยนต์แล่นเข้าออกได้ จำเลยที่ 1 จึงปักเสาคอนกรีตกั้นไม่ให้รถยนต์ผ่าน ปี 2558 จำเลยทั้งสองรื้อรั้วสังกะสีออกและสร้างรั้วคอนกรีตขยับเข้าไปทับทางคอนกรีตเดิมให้เหลือส่วนที่เป็นพื้นหินคลุกกว้าง 1.5 เมตร วันที่ 19 ตุลาคม 2558 โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ระหว่างพิจารณาในวันทำแผนที่พิพาทโจทก์ยกที่ดินส่วนที่เป็นทางในเขตที่ดินของโจทก์จากสะพานข้ามคลองไปวัดหูช้างยาวตลอดถึงแนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองให้เป็นทางสาธารณะขนาดกว้าง 1.5 เมตร หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยกที่ดินของจำเลยทั้งสองส่วนที่เป็นพื้นหินคลุกซึ่งถมจากลำกระโดงเก่าให้เป็นทางสาธารณะขนาดกว้าง 1.5 เมตร เริ่มจากถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ไปเชื่อมต่อกับทางที่โจทก์ยกให้ก่อนนั้น ทางพิพาทตามแผนที่พิพาท อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองเริ่มตั้งแต่ส่วนที่ติดเขตที่ดินของโจทก์ยาวตลอดแนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองไปจดถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ขนาดกว้าง 3 เมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นทางเดินคันดินเดิมที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกองปรับปรุงเป็นพื้นคอนกรีต และส่วนที่ 2 เป็นพื้นหินคลุก โดยโจทก์นำชี้แนวเขตทางพิพาทรวม 2 ส่วน กว้าง 3 เมตร จำเลยทั้งสองนำชี้เฉพาะทางพิพาทส่วนที่เป็นทางเดินคันดินเดิมกว้าง 1 เมตร
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ทางพิพาทส่วนแรกมีความกว้างเท่าใด เห็นว่า ตามแผนที่พิพาท โจทก์นำชี้ทางพิพาทตามแนวเขตเส้นสีแดงกว้าง 3 เมตร ส่วนจำเลยทั้งสองนำชี้ทางพิพาททับส่วนที่โจทก์นำชี้ตามแนวเขตเส้นสีเขียวกว้าง 1 เมตร โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองตรวจดูแผนที่พิพาทแล้วรับรองว่าถูกต้องตามที่ตนเองนำชี้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 23 มีนาคม 2559 แต่ตามแผนที่พิพาทดังกล่าวไม่ได้ระบุแนวกำแพงคอนกรีตที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างว่าอยู่ในแนวใดบนทางพิพาท ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบโต้เถียงกันในส่วนความกว้างของทางพิพาทส่วนแรก โดยโจทก์เบิกความว่า เดิมทางพิพาทกว้างประมาณ 1.20 เมตร ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เดิมทางพิพาทเป็นคันดินสวนกว้างเพียง 1 เมตร ซึ่งบุคคลทั่วไปรวมทั้งพระภิกษุใช้เดินไปวัดหูช้าง ต่อมาทางราชการเห็นว่าทรุดโทรมจึงนำแผ่นปูนซีเมนต์กว้าง 0.50 เมตร มาวาง หลังจากนั้นได้เปลี่ยนเป็นแผ่นปูนซีเมนต์กว้าง 1 เมตร มาวางแทน เมื่อทรุดโทรมอีกทางราชการจึงเทปูนซีเมนต์กว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนแนวหินคลุกที่ติดกับปูนซีเมนต์ตามภาพถ่ายดังกล่าวเดิมเป็นลำกระโดงที่ใช้ผันน้ำจากคลองบางราวนกเข้าสู่สวนของจำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นที่อยู่ตามแนวคลอง ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสภาพทางพิพาทที่เดิมเป็นเพียงทางเดินบนแนวคันดินของร่องสวนตามที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันนั้น แสดงให้เห็นได้ว่าการปรับปรุงทางเดินดังกล่าวเป็นพื้นปูนซีเมนต์ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างย่อมไม่อาจทำให้กว้างได้เท่ากับทางพิพาทเดิมเนื่องจากมีสภาพเป็นเพียงคันดิน และจำเลยทั้งสองอ้างว่าได้ย้ายเส้นทางเดินบนแนวคันดินเดิมไปยังสุดแนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองโดยทำเป็นทางเดินกว้าง 1.5 เมตร คือ ทางพิพาทส่วนที่ 2 โดยมีแนวเขตติดต่อกับทางพิพาทเดิม คือ ทางพิพาทส่วนแรก แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบคัดค้านว่าการนำชี้ทางพิพาทของโจทก์ตามแนวเขตเส้นสีแดงกว้าง 3 เมตร นั้น ไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะจำเลยทั้งสองนำชี้แนวเขตเส้นสีเขียวกว้างเพียง 1 เมตร จึงเหลือความกว้างของทางพิพาทอีก 2 เมตร อีกทั้งปรากฏตามภาพถ่าย ภาพแรกว่า จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงคอนกรีตล้ำเข้ามาบนทางส่วนที่เป็นพื้นหินคลุกด้วย ดังนั้น จึงน่าเชื่อว่าทางพิพาทเดิมไม่ได้มีความกว้างเฉพาะส่วนที่เป็นพื้นปูนซีเมนต์กว้าง 1 เมตร เท่านั้น แต่ยังรวมความกว้างในส่วนที่เป็นพื้นหินคลุกด้วย อันสอดคล้องกับความกว้างของสะพานข้ามคลองบางราวนกจากที่ดินของจำเลยทั้งสองผ่านที่ดินของโจทก์ไปยังวัดหูช้างที่มีความกว้าง 1.5 เมตร แม้โจทก์จะนำสืบว่าทางพิพาทเดิมมีความกว้างประมาณ 1.20 เมตร ก็เป็นเพียงการประมาณจากการใช้ทางสัญจรเดิมที่มีสภาพเป็นเพียงคันดิน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ทางพิพาทส่วนแรกที่เป็นทางสัญจรเดิมนั้นมีความกว้าง 1.5 เมตร เมื่อรวมกับความกว้างของทางพิพาทส่วนที่ 2 ขนาด 1.5 เมตร ตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันแล้ว ทางพิพาทจึงมีความกว้าง 3 เมตร ตรงกับที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำชี้แนวเขตในแผนที่พิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า ทางพิพาททั้ง 2 ส่วนเป็นทางสาธารณะหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า ทางสาธารณะนั้นประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้ได้ บุคคลใดก็ไม่มีอำนาจห้ามบุคคลอื่นใช้ทางสาธารณะ แม้คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ หากข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนได้ความว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทกฎหมายและพิพากษาไปตามทางพิจารณานั้นได้ หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในส่วนของทางพิพาทส่วนแรกโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อหลายสิบปีมาแล้วบุคคลทั่วไปรวมทั้งญาติพี่น้องโจทก์ใช้ทางพิพาทเดินสัญจรไปมาซึ่งบิดามารดาโจทก์เจ้าของที่ดินเดิมมิได้ขัดขวางห้ามปราม ต่อมานางมาลัยขายที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง บุคคลทั่วไปรวมทั้งโจทก์และญาติพี่น้องโจทก์ก็ยังคงใช้ทางพิพาทสัญจรดังเดิม และปี 2537 ทางราชการตัดถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ผ่านทางพิพาท ผู้ใช้ทางบางรายจึงใช้รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ผ่านทางพิพาทด้วย ในปี 2547 โจทก์ขยายทางพิพาทเป็นถนนกว้าง 3 เมตร ยาวตั้งแต่ริมคลองบางราวนกจนถึงถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ เพื่อใช้เป็นทางรถยนต์เข้าออกจากบ้านของโจทก์และน้องสาวโจทก์ไปสู่ถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสองไม่เคยขัดขวางหรือห้ามปรามการใช้ทางของโจทก์และบุคคลอื่น จำเลยทั้งสองก็ให้การยอมรับว่า เดิมทางพิพาทเป็นทางที่ใช้เดินบนคันดินเพื่อใช้สำหรับเดินเลียบไปตามแนวคูส่งน้ำ ซึ่งใช้ส่งน้ำจากคลองบางราวนกเข้าสู่ท้องร่องในเรือกสวนของจำเลยทั้งสองและท้องร่องของที่ดินแปลงอื่น ๆ ที่อยู่ถัดไปจากที่ดินของจำเลยทั้งสอง เมื่อทางราชการสร้างถนนอัจฉริยะประสิทธิ์บุคคลทั่วไปรวมทั้งโจทก์ยังใช้ทางเดินตามแนวคันดินเดิม ต่อมาทางราชการปรับปรุงทางเดินดังกล่าวจากพื้นดินเป็นพื้นปูนซีเมนต์ ซึ่งบุคคลทั่วไปรวมทั้งโจทก์ก็ใช้ทางเดินดังกล่าวสัญจรเข้าออกระหว่างถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ผ่านที่ดินของโจทก์เพื่อข้ามสะพานคลองบางราวนกไปยังวัดหูช้างเรื่อยมา ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะสร้างกำแพงคอนกรีต จำเลยทั้งสองขยับเส้นทางเดินบนแนวคันดินเดิมไปยังสุดแนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองจากถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ยาวตลอดแนวไปถึงที่ดินของโจทก์เพื่อข้ามสะพานคลองบางราวนกไปยังวัดหูช้าง เพื่อให้โจทก์และบุคคลทั่วไปใช้สัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติตามที่จำเลยทั้งสองให้การและนำสืบยอมรับว่า ทางพิพาทส่วนแรกนั้น บุคคลทั่วไปสามารถใช้ผ่านเข้าออกจากทางด้านถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ไปยังวัดหูช้างมาหลายสิบปีแล้วตั้งแต่ก่อนมีการตัดถนนอัจฉริยะประสิทธิ์ โดยเจ้าของที่ดินเดิมรวมทั้งจำเลยทั้งสองไม่เคยขัดขวางหรือห้ามปราม ทางพิพาทส่วนแรกจึงมิได้มีการใช้เฉพาะเครือญาติดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา และจำเลยทั้งสองยังยินยอมให้ทางราชการปรับปรุงทางพิพาทจากพื้นดินเป็นพื้นปูนซีเมนต์ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่า เดิมทางพิพาทเป็นคันดินซึ่งบุคคลทั่วไปรวมทั้งพระภิกษุใช้เดินไปวัดหูช้าง ต่อมาทางราชการเห็นว่าทรุดโทรมจึงนำแผ่นปูนซีเมนต์มาวาง เมื่อทรุดโทรมอีกทางราชการจึงเทปูนซีเมนต์ สอดคล้องกับคำให้การของจำเลยทั้งสอง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าเจ้าของที่ดินเดิมมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปใช้ทางพิพาทส่วนแรกสัญจรไปมาในลักษณะอุทิศให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายมาตั้งแต่ต้นแล้ว ทางพิพาทส่วนแรกจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้จำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินมาและมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมถึงในทางพิพาทส่วนแรกก็ไม่ทำให้ทางพิพาทส่วนแรกที่ตกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวนี้กลับกลายมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง และการที่จำเลยทั้งสองให้บุคคลทั่วไปรวมทั้งโจทก์ไปใช้ทางพิพาทส่วนที่ 2 ก็ไม่ทำให้ทางพิพาทส่วนแรกหมดสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วกลับไปเป็นของจำเลยทั้งสองได้อีกเช่นกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะก่อสร้างกำแพงบนทางพิพาทส่วนแรก และไม่มีสิทธิให้ไปใช้ทางอื่นแทนทางพิพาทส่วนแรกที่เป็นทางสาธารณะได้ เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะแล้วแม้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องขอให้เป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นก็เป็นเพียงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะจึงมิได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือพิพากษาเกินคำขอ
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ทางพิพาทส่วนที่ 2 นั้น จำเลยทั้งสองมีเจตนาให้ใช้แทนทางพิพาทส่วนแรกและจำเลยทั้งสองทำหนังสืออุทิศให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกอง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหลังจากที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกองอนุญาตให้จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงบนทางพิพาทส่วนแรกและเป็นการอุทิศให้หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้ถึง 9 เดือนเศษ โดยเป็นไปตามคำชี้แนะของเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกอง ทั้งไม่ใช่ทางที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงไม่ใช่ทางสาธารณะ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสองยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกองเพื่อขอเพิกถอนการอุทิศที่ดินดังกล่าวต่อศาลปกครอง คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทางพิพาทส่วนที่ 2 เป็นทางสาธารณะโดยไม่ได้พิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการคลาดเคลื่อน ทั้งการที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์ใช้ทางพิพาทส่วนที่ 2 แทนทางพิพาทส่วนแรกก็ไม่ได้ทำให้โจทก์ลดความสะดวกในการใช้ทาง และทางพิพาทส่วนที่ 2 ไม่ใช่ทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นเนื่องจากโจทก์ใช้ทางดังกล่าวโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ยังคัดค้านโดยนำเสามาปักและเขียนป้ายอย่างชัดแจ้ง จึงไม่ใช่การใช้โดยปรปักษ์เกิน 10 ปี นั้น เห็นว่า เมื่อทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตั้งแต่ก่อนจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินมาจากเจ้าของเดิม ย่อมต้องยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) บุคคลใดย่อมไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในทางดังกล่าวได้ ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะทำหนังสืออุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 โดยมีเจตนาให้ใช้แทนทางพิพาทส่วนแรกตามคำแนะนำขององค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกองตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจมีผลให้ทางพิพาทส่วนแรกที่ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นกลับเป็นของจำเลยทั้งสองได้ เมื่อพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวปรากฏเพียงว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่คัดค้านการใด ๆ ข้อความดังกล่าวมีความหมายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองยอมอุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 ให้เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ทันทีที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แม้จะเป็นการกระทำหลังวันฟ้องคดีนี้ และแม้คดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องต่อศาลปกครองขอเพิกถอนเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาเฉพาะทางพิพาทส่วนที่ 2 อยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม แต่ทางพิพาทส่วนที่ 2 ก็ยังไม่ได้ถูกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงยังคงเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองเอง เมื่อความปรากฏต่อศาลในระหว่างพิจารณาโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้นำสืบ และเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏโดยชัดแจ้ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทส่วนที่ 2 เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนตามทางนำสืบของคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมิได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือพิพากษาเกินคำขอในส่วนทางพิพาทส่วนที่ 2 นี้เช่นกัน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงปิดทางพิพาทบางส่วนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ในการใช้ทาง จำเลยทั้งสองย่อมต้องรื้อถอนออกไปและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share