คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดถือว่าเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และการพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ศาลจึงมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ถ้าการบังคับจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 และมาตรา 44
เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มุ่งช่วยเหลือคุ้มครองเกษตรกรผู้เช่านาซึ่งเป็นผู้ทำนาโดยเฉพาะให้ได้สิทธิในที่ดินที่ตนทำนา เมื่อโจทก์ผู้เช่านาพิพาทผิดสัญญามิได้ทำนาด้วยตนเองแต่นำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เช่านาเพื่อทำนาโดยแท้จริง ต้องถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะซื้อนาพิพาทจากจำเลยผู้รับโอนตามมาตรา 54 การที่โจทก์ฟ้องบังคับซื้อนาจากจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และการบังคับตามคำชี้ขาดของ คชก. จังหวัดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้
ราคาตลาดที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธราคาที่โจทก์ขอซื้อที่นาไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่จำเลยเรียกร้อง แม้จำเลยอุทธรณ์และฎีกาก็หาต้องเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ตามราคาตลาดที่กล่าวอ้างไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 17746 ตามมติของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2554 ให้จำเลยรับเงิน 7,000,000 บาท และจดทะเบียนขายนาพิพาทแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยและพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แล้ววินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยให้ครบถ้วนเสียก่อน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้ว พิพากษาให้จำเลยโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17746 แก่โจทก์ในราคา 7,000,000 บาท ให้จำเลยรับชำระราคาในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือต่อสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครนายก โดยให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียมาเกิน 157,500 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ารับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 โจทก์ทำสัญญาเช่านาพิพาท โฉนดเลขที่ 17746 เนื้อที่ 50 ไร่ 51 ตารางวา จากนางพีระพันธ์ เจ้าของนาพิพาท มีกำหนด 2 ปี ในระหว่างอายุสัญญาเช่านา นางพีระพันธ์นำนาพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่จำเลยในราคา 7,000,000 บาท มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 1 เดือน โดยมิได้ทำหนังสือแสดงความจำนงขายนาพิพาทแก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 53 นางพีระพันธ์ไม่ได้ไถ่ถอนนาพิพาทภายในกำหนดนาพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามสัญญาขายฝาก ต่อมา คชก. จังหวัดนครนายก มีคำวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 54 นางพีระพันธ์ฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดนครนายก ต่อศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง คดีถึงที่สุด โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้บังคับตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดนครนายก
คดีมีปัญหาสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดนครนายกหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 58 บัญญัติว่า ในกรณีมีการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของ คชก. จังหวัด เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาล ในการพิจารณาของศาลให้ถือว่าคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 221 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติให้การเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาลเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ได้แก่ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และโดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 41 และมาตรา 44 บัญญัติว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ผูกพันคู่พิพาท และเมื่อได้มีการร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจย่อมบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น แต่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้ ถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้เถียงกันว่า โจทก์ทำสัญญาเช่านาพิพาทจากนางพีระพันธ์ มีกำหนด 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 แต่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ทำนา กลับนำนาพิพาทให้ผู้อื่นเช่าช่วง อันเป็นการผิดสัญญา นางพีระพันธ์ผู้ให้เช่าบอกเลิกการเช่านา และ คชก. ตำบลศรีจุฬามีมติให้เลิกการเช่านา โดยให้สัญญาเช่านาสิ้นสุดเมื่อครบกำหนด 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ และ คชก. จังหวัดนครนายกมีมติยืนตามมติ คชก. ตำบลดังกล่าว โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อศาล มติ คชก. จังหวัดนครนายกจึงเป็นที่สุด เห็นว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มุ่งช่วยเหลือคุ้มครองเกษตรกรผู้เช่านามิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบในการเช่านาผู้อื่นทำ มิได้ให้ผู้เช่านาใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวแสวงหาประโยชน์อื่นจากนาที่เช่า เมื่อโจทก์ผู้เช่านาพิพาทมิได้ทำนาด้วยตนเองแต่นำนาไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง โจทก์จึงมีลักษณะเป็นคนกลางที่แสวงหาประโยชน์ตามสัญญาเช่านาจากชาวนาที่ทำนา ทำให้ชาวนาที่ทำนาอยู่จริงไม่อาจเช่านาจากผู้ให้เช่าได้โดยตรงและไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะผู้เช่า และการที่โจทก์ไม่ใช่ผู้เช่านาเพื่อทำนาโดยแท้จริง ต้องถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าตามความหมายในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 5 ที่ให้นิยามคำว่า ผู้เช่า ว่าหมายถึง ผู้เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม ซึ่งได้แก่การทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ เช่นนี้ การที่มาตรา 54 บัญญัติให้สิทธิผู้เช่าที่จะซื้อนาที่เช่าได้แม้ว่านาได้โอนไปยังผู้รับโอนแล้วนั้น ก็เพื่อคุ้มครองผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ทำนาโดยเฉพาะให้ได้สิทธิในที่ดินที่ตนทำนาอยู่เท่านั้น มิได้มุ่งหมายที่จะคุ้มครองผู้เช่าที่ไม่ได้ทำนาและเป็นผู้ผิดสัญญาเช่านาเพราะให้ผู้อื่นเช่าช่วง การวินิจฉัยและมติ คชก. จังหวัดนครนายกซึ่งจะเป็นผลให้โจทก์ผู้เช่าที่ไม่ได้ทำนาด้วยตนเองมีสิทธิบังคับซื้อนาจากผู้รับโอนได้ จึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการทำลายหลักกฎหมายเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้รับโอนที่นาโดยไม่เป็นธรรม ทำให้เป็นช่องทางให้ผู้ที่ทำสัญญาเป็นผู้เช่านาเช่นโจทก์แสวงหาประโยชน์ที่เป็นการเอาเปรียบสังคม ดังนั้น แม้นางพีระพันธ์จะขายฝากนาพิพาทแก่จำเลยในวันที่ 24 มกราคม 2554 ก่อนที่สัญญาเช่านาพิพาทระหว่างนางพีระพันธ์กับโจทก์จะเลิกกันในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้แสดงความจำนงจะซื้อนาตามมาตรา 53 ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะซื้อนาพิพาทจากจำเลยผู้รับโอนตามมาตรา 54 การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเป็นคดีนี้ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และการบังคับตามคำชี้ขาดของ คชก. จังหวัดนครนายกย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเสีย ปัญหาที่วินิจฉัยมาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยต่อไป
อนึ่ง การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าราคาตลาดของนาพิพาทสูงกว่าราคาที่โจทก์ขอใช้สิทธิซื้อนั้น ราคาตลาดที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธราคาที่โจทก์ขอซื้อไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่จำเลยเรียกร้อง แม้จำเลยอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็หาต้องเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ตามราคาตลาดที่กล่าวอ้างไม่ คำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาของจำเลยเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นศาลละ 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 2 (ก) แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาที่เสียเกินมา และคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมแก่จำเลยให้ถูกต้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 42,300 บาท และค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อีก 42,300 บาท ให้แก่จำเลย

Share