คำวินิจฉัยที่ 75/2562

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสูงเนิน ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ ๗ สาขานครราชสีมา ที่ ๒ นายอำเภอสูงเนิน ที่ ๓ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งขี้เหล็ก ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๙๕๕ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๓ งาน ๒ ตารางวา และได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ ๑ งาน ๕๐ ตารางวา ต่อมามีการกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์ โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสูงเนิน และอำเภอสูงเนินรังวัดที่ดินเข้ามาในเขตที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง ผู้ฟ้องคดีขอสอบเขตที่ดินดังกล่าวอีกครั้ง ได้เนื้อที่เพิ่มขึ้น ๑ งาน ๕๐ ตารางวา ที่ดินที่เพิ่มขึ้นผู้ฟ้องคดีได้รับโอนมาโดยชอบและครอบครองสืบต่อกันมาก่อนที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ จะใช้บังคับ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ คัดค้าน อ้างว่าที่ดินส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินเฉพาะในส่วนที่มีเนื้อที่ ๑ งาน ๕๐ ตารางวา กับห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การในทำนองเดียวกันว่า ผู้ฟ้องคดีได้นำรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในคลองสาธารณะ เห็นว่า แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ มีหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหน้าที่ดูแล รักษา และขุดลอกร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ และทะเลภายในน่านน้ำไทย ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะซึ่งเป็นเพียงการใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินข้างเคียงเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไปในการระวังแนวเขตที่ดิน อันเนื่องมาจากมีการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อมิให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดกันรังวัดสอบเขตที่ดินของตนรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินสาธารณะ การคัดค้านการรังวัดที่ดินของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งจะเข้าลักษณะคดีพิพาท ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีรังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่ผู้ฟ้องคดียืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของตน กรณีจึงเป็ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share