คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14503/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างชัดเจนว่า จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าโทรศัพท์จำนวน 1 เครื่อง ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “NOKIA” ของบริษัท น. ผู้เสียหาย อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้โดยชอบแล้ว โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้เสียหายดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ตามคำฟ้องดังกล่าว แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยกลับอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด เพราะจำเลยเป็นเพียงผู้รับจ้างขายสินค้า มิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์ ไม่ทราบแหล่งที่มาของโทรศัพท์ของกลาง รวมทั้งไม่ทราบว่าโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำเลยทำงานเป็นพนักงานขายโทรศัพท์ที่ร้านเกิดเหตุชื่อร้าน จ. เพียงสองเดือนเศษก่อนถูกจับกุม จึงไม่มีความถนัดรอบรู้ในชนิดสินค้าที่เพิ่งรับหน้าที่ขาย ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 115, 117 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างชัดเจนว่าจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าโทรศัพท์จำนวน 1 เครื่อง ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “NOKIA” ของบริษัทโนเกีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เสียหาย อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้โดยชอบแล้ว โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้เสียหายดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ตามคำฟ้องดังกล่าว แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยกลับอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด เพราะจำเลยเป็นเพียงผู้รับจ้างขายสินค้า มิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์ ไม่ทราบแหล่งที่มาของโทรศัพท์ของกลาง รวมทั้งไม่ทราบว่าโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำเลยทำงานเป็นพนักงานขายโทรศัพท์ที่ร้านเกิดเหตุชื่อร้านเจมส์โฟนท์เพียงสองเดือนเศษก่อนถูกจับกุมจึงไม่มีความถนัดรอบรู้ในชนิดสินค้าที่เพิ่งรับหน้าที่ขาย ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำนวนของกลางที่มีเพียง 1 เครื่อง แล้วเห็นว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยนั้นหนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่สภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษจำคุกจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share