คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13284/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้กับคดีก่อนมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอันเดียวกันว่า บ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน พ. ปรากฏว่าในคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยและคดีถึงที่สุดแล้วว่า บ. ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน พ. ส่วนในคดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างว่าพบพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงว่า บ. ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน พ. ก็เป็นการฟ้องที่มีประเด็นต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน
คดีก่อน พ. ฟ้องโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ส่วนในคดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกับ พ. หลังจากศาลพิพากษาคดีก่อน และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทของ พ. หลังจากศาลพิพากษาคดีก่อนแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจาก บ. มาเป็น พ. ตามคำสั่งศาล ต่อมา พ. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับ พ. ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งหกจึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก พ. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อน ดังนั้น ถือได้ว่าคู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีก่อนเป็นคู่ความรายเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์ฟ้องขอให้เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และ พ. เป็นชื่อของ บ. เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ก) ท้าย ป.วิ.พ.
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อโจทก์แพ้คดีบางข้อและบางข้อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ จึงชอบแล้ว
ในคดีก่อน พ.ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท คดีก่อนจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ฟ้องคดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า นายบัญชาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2200 เลขที่ดิน 591 ตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทกับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนางพัฒนาเป็นชื่อนายบัญชาและเปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากชื่อจำเลยที่ 1 เป็นชื่อนายบัญชา หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นข้อนี้แล้วพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นภริยาของนายบัญชา โดยนายบัญชามีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน คือ นางพัฒนา และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นบุตรของนางพัฒนา เดิมนายบัญชามีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2200 ตำบลแก่งคอย (ขอนขว้าง) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท หลังจากนายบัญชาถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบัญชา ต่อมานางพัฒนาฟ้องโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบัญชาต่อศาลชั้นต้นให้พิพากษาว่านางพัฒนาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบัญชาดำเนินการเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนางพัฒนา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่านายบัญชาถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนนางพัฒนา พิพากษาว่านางพัฒนาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบัญชาดำเนินการเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อนางพัฒนา หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1567/2545 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลจากนายบัญชาเป็นนางพัฒนา วันที่ 15 กันยายน 2546 เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับนางพัฒนา และวันที่ 9 ธันวาคม 2553 นางพัฒนาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพัฒนาและยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกของนางพัฒนา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1567/2545 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งหกในคดีนี้ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1567/2545 ของศาลชั้นต้นหรือคดีก่อน แม้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 จะเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของนางพัฒนา แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่ผู้สืบสิทธิของนางพัฒนา และหลังจากคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว โจทก์พบพยานหลักฐานใหม่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่านายบัญชาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งแสดงว่านายบัญชาไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนนางพัฒนา ข้อเท็จจริงคดีนี้จึงแตกต่างจากคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้กับคดีก่อนมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอันเดียวกันว่า นายบัญชาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนนางพัฒนา ปรากฏว่าในคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยและคดีถึงที่สุดแล้วว่านายบัญชาถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนนางพัฒนา ส่วนในคดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างว่าพบพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงว่านายบัญชาไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนนางพัฒนา ก็เป็นการฟ้องที่มีประเด็นต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน นอกจากนี้ในคดีก่อนนางพัฒนาฟ้องโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบัญชา ส่วนในคดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบัญชาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกับนางพัฒนาหลังจากศาลพิพากษาคดีก่อน และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทของนางพัฒนา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากศาลพิพากษาคดีก่อนแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจากนายบัญชามาเป็นนางพัฒนาตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2546 นางพัฒนาได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับนางพัฒนาในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งหกจึงเป็นผู้สืบสิทธิจากนางพัฒนาซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อน ดังนั้น ถือได้ว่าคู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีก่อนเป็นคู่ความรายเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์วางเงินค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ในอัตราร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์พิพาทและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ จึงไม่ถูกต้อง เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนางพัฒนาเป็นชื่อของนายบัญชา เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท ทั้งนี้ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว และที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อโจทก์แพ้คดีบางข้อและบางข้อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งหกฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนนั้น เห็นว่า ในคดีก่อน นางพัฒนาไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท คดีก่อนจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ฟ้องคดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในปัญหาเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้วพิพากษาไปตามรูปความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (3) นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งหกฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share