แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่ง ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยออกจากตำแหน่งเพราะได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าว และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันดังกล่าวเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำไม่เป็นความผิด หรือกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด อันจะต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า กรณีมีเหตุอันสมควรเชื่อว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นที่สุด แม้ในคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการดังกล่าวด้วยตนเองก็ตาม แต่การออกจากตำแหน่งเพราะเหตุนี้มีผลทำให้จำเลยต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่โจทก์
เงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ และค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงาน นั้น จำเลยเป็นผู้เลือกผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงาน และเสนอขอให้โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งตามหนังสือยืนยัน โดยผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่ให้คำแนะนำ คำปรึกษาทางวิชาการแก่จำเลย ส่วนผู้ปฏิบัติงานมีหน้าที่รับผิดชอบตามที่จำเลยกำหนด ซึ่งเป็นการแต่งตั้งโดยอาศัยสิทธิที่จำเลยมีอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญและค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับไปในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
จำเลยออกจากตำแหน่งเพราะได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 97 บัญญัติบังคับให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนได้ตลอดเวลาที่จำเลยยังคงยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับกำหนดอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 1,774,289.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,720,209.34 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,720,209.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2549) ต้องไม่เกิน 54,080.55 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,122,928.70 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยชำระค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2543 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองว่า จำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเขตการเลือกตั้งจังหวัดพะเยา ตามหนังสือรับรองการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยสมาชิกภาพของจำเลยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา ต่อมานายสุวิทย์ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเขตการเลือกตั้งจังหวัดพะเยาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เนื่องจากก่อนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำเลยได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 คณะกรรมการการเลือกตั้งไต่สวนแล้ว และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยว่า กรณีมีเหตุอันสมควรเชื่อว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเขตการเลือกตั้งจังหวัดพะเยามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ในเขตเลือกตั้งจังหวัดพะเยาแทนจำเลย มีผลทำให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่ง ตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้งระหว่างวันที่ 22 มีนาคม 2544 ที่จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จำเลยได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม 871,838.70 บาท เบี้ยประชุมกรรมาธิการ 27,000 บาท ใบเบิกทาง 224,090 บาท ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ 7,443 บาท รวมเป็นเงิน 1,122,928.70 บาท นอกจากนี้โจทก์ได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวจำเลย 1 คน คือ นายเสถียร และโจทก์แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย 5 คน ได้แก่ นายเสริมชัย นางสาววชิราภรณ์ นายชัยกร นางสาววาสนา และนางสาวพวงร้อย เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำด้านวิชาการ รวมทั้งช่วยดำเนินการต่าง ๆ ให้แก่จำเลย โดยโจทก์จ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญเป็นเงิน 141,774.19 บาท และค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานเป็นเงิน 455,506.45 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ได้สิ้นสุดลง ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงต้องใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยนั้น เห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่ง คือ วันที่ 13 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยออกจากตำแหน่งเพราะได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าว และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันดังกล่าวเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำไม่เป็นความผิด หรือกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด อันจะต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยดังที่จำเลยฎีกา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เงินค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลยมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับไป จึงต้องคืนแก่โจทก์ ส่วนจำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม เบี้ยประชุมกรรมาธิการ ที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลย จึงเป็นค่าตอบแทนที่จำเลยได้รับมาโดยชอบก่อนที่จะมีคำสั่งเพิกถอนสมาชิกภาพ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า กรณีมีเหตุอันสมควรเชื่อว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเขตเลือกตั้งจังหวัดพะเยามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นที่สุด แม้ในคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการดังกล่าวด้วยตนเองก็ตาม แต่การออกจากตำแหน่งเพราะเหตุนี้มีผลทำให้จำเลยต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่โจทก์ ซึ่งในส่วนที่จำเลยได้รับไปโดยตรง ได้แก่ เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม 871,838.70 บาท เบี้ยประชุมกรรมาธิการ 27,000 บาท ใบเบิกทาง 224,090 บาท ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ 7,443 บาท รวมเป็นเงิน 1,122,928.70 บาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ 141,774.19 บาท และค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงาน 455,506.45 บาท นั้น จำเลยเป็นผู้เลือกผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงาน และเสนอขอให้โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งตามหนังสือยืนยัน โดยผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่ให้คำแนะนำ คำปรึกษาทางวิชาการแก่จำเลย ส่วนผู้ปฏิบัติงานมีหน้าที่รับผิดชอบตามที่จำเลยกำหนด ซึ่งเป็นการแต่งตั้งโดยอาศัยสิทธิที่จำเลยมีอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญและค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับไปในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งต้องคืนแก่โจทก์เช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ต้องคืนประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยมิได้เป็นผู้รับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อจำเลยออกจากตำแหน่งเพราะได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 97 บัญญัติบังคับให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนได้ตลอดเวลาที่จำเลยยังคงยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับกำหนดอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 11,000 บาท