คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้การจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินสาธารณูปโภคและบริเวณสาธารณะตามโฉนดเลขที่ 2603 ที่จำเลยรับโอนมาจากบริษัท บ. ผู้จัดสรร ให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2346 ของบริษัท บ. ผู้จัดสรร จะเป็นมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญของจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมตินี้แล้วก็ตาม แต่เมื่อก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยได้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินที่รับโอนมาให้แก่ที่ดินของบริษัท บ. ตามมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเสียแล้วสภาพแห่งคดีจึงไม่เปิดช่องที่จะมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมตามคำขอของโจทก์ได้ และแม้จะอนุเคราะห์ให้ถือว่าคำขอของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมระหว่างจำเลยกับบริษัท บ. ก็ดี แต่การจะเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวโจทก์จำต้องฟ้องบริษัท บ. เจ้าของสามยทรัพย์ผู้เป็นคู่สัญญากับจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยด้วย ลำพังแต่เพียงฟ้องจำเลยเพื่อให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะคำพิพากษาย่อมผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่อาจบังคับจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญของจำเลย โดยประกอบด้วยสภาพแห่งข้อหาหลายข้อด้วยกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ช. พ้นจากตำแหน่งจากการเป็นกรรมการตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว การที่ ช. ในนามประธานกรรมการของจำเลยทำหนังสือเชิญประชุมและดำเนินการประชุมมีการลงมติในวาระต่างๆ จึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับ อันนำไปสู่การบังคับตามคำขอของโจทก์ได้แล้ว การที่ยังจะต้องวินิจฉัยข้อหาอื่นเพื่อนำไปสู่การบังคับตามคำขอเดียวกันนี้อีกจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อหาที่เหลืออีก กรณีเช่นนี้หาใช่ว่าศาลไม่ได้ตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ หากโจทก์เห็นว่าข้อหาที่เหลือยังมีการกระทำที่ทำให้โจทก์ต้องเสียหายก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ของจำเลย ห้ามจำเลยกระทำนิติกรรมหรือกระทำการใดๆ ในที่ดินสาธารณูปโภค และบริเวณสาธารณะที่รับโอนมาจากผู้จัดสรรตามโฉนดเลขที่ 2603 ตำบลประเวศ อำเภอประเวศ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 65 ไร่ 84 ตารางวา ให้เป็นภาระจำยอมในเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ไฟฟ้าประปาตลอดจนสาธารณูปโภคอื่น อันทำให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสิบสี่และสมาชิกของจำเลยแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2346 ตำบลประเวศ อำเภอประเวศ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 21 ไร่ 72 ตารางวา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสิบสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์ทั้งสิบสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 14 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเมืองทอง 2 โครงการ 2 ซอยพัฒนาการ 61 ถนนพัฒนาการ แขวงและเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มีนายชาญบุณฑ์ เป็นประธานกรรมการของจำเลย โจทก์ทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรเป็นสมาชิกของจำเลย แต่นายชาญบุณฑ์เป็นบุคคลล้มละลายทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งจากการเป็นกรรมการตามข้อบังคับของจำเลย การที่นายชาญบุณฑ์ในนามประธานกรรมการของจำเลยทำหนังสือเชิญประชุมและดำเนินการประชุมมีการลงมติในวาระต่างๆ จึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับ แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ของจำเลย คำพิพากษาศาลชั้นต้นตามคำขอของโจทก์ในข้อนี้ยุติแล้ว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 14 ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยไม่ให้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินสาธารณูปโภคและบริเวณสาธารณะที่รับโอนมาจากผู้จัดสรรให้แก่ที่ดินแปลงอื่นของผู้จัดสรรตามคำขอของโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่าแม้การจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินสาธารณูปโภคและบริเวณสาธารณะตามโฉนดเลขที่ 2603 ที่จำเลยรับโอนมาจากบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดสรร ให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2346 ของบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดสรร จะเป็นมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ของจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมตินี้แล้วก็ตาม แต่เมื่อก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 18 สิงหาคม 2554 จำเลยได้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินที่รับโอนมาให้แก่ที่ดินของบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ตามมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเสียแล้วตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2554 สภาพแห่งคดีจึงไม่เปิดช่องที่จะมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมตามคำขอของโจทก์ได้ และแม้จะอนุเคราะห์ให้ถือว่าคำขอของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมระหว่างจำเลยกับบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ก็ดี แต่การจะเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวโจทก์จำต้องฟ้องบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสามยทรัพย์ผู้เป็นคู่สัญญากับจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยด้วยดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ลำพังแต่เพียงฟ้องจำเลยเพื่อให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะคำพิพากษาย่อมผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้คดีจึงไม่อาจบังคับจำเลยตามคำขอ
ของโจทก์ได้
ส่วนที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 14 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยให้ครบทุกข้อหาในคำฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ของจำเลย โดยประกอบด้วยสภาพแห่งข้อหาหลายข้อด้วยกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายชาญบุณฑ์พ้นจากตำแหน่งจากการเป็นกรรมการตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว การที่นายชาญบุณฑ์ในนามประธานกรรมการของจำเลยทำหนังสือเชิญประชุมและดำเนินการประชุมมีการลงมติในวาระต่างๆ จึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับ อันนำไปสู่การบังคับตามคำขอของโจทก์ได้แล้ว การที่ยังจะต้องวินิจฉัยข้อหาอื่นเพื่อนำไปสู่การบังคับตามคำขอเดียวกันนี้อีกจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อหาที่เหลืออีก กรณีเช่นนี้หาใช่ว่าศาลไม่ได้ตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ดังที่โจทก์ฎีกามาไม่ หากโจทก์เห็นว่าข้อหาที่เหลือยังมีการกระทำที่ทำให้โจทก์ต้องเสียหายก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 14 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share