แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องนำสืบเพียงการรับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องและการเป็นหนี้ค้างชำระของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และ ส. ลูกหนี้ที่ตายหลังจากผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาเท่านั้น มิได้นำสืบถึงมูลหนี้เดิมเพื่อให้รับฟังได้ว่าฝ่ายลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมในหนี้ประเภทใด และผิดนัดผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้เดิมเมื่อใดหรือชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อใด ซึ่งแม้หากนับอายุความตั้งแต่ขณะนั้นตามแต่กรณีจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ แต่ฝ่ายลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่า มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและจำนอง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฝ่ายลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมตั้งแต่ปี 2537 และโต้แย้งด้วยว่า การที่ฝ่ายลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งก็คือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เมื่อปี 2548 และปี 2549 เป็นการรับสภาพความรับผิดหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว อายุความมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตาม มาตรา 193/35 หนี้ตามคำร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้ว ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้านดังกล่าว คดีของผู้ร้องย่อมขาดอายุความตามที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบว่า เจ้าหนี้เดิมและผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากฝ่ายลูกหนี้ตั้งแต่เมื่อใดหรือมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าคดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความจึงต้องฟังว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้ที่ตายตาม พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และมาตรา 82
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และกองมรดกของนายสนองเด็ดขาด
ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของนายสนอง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และมาตรา 82 ประกอบพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ให้ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และกองมรดกของนายสนองลูกหนี้ที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยหักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหก เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร และให้ยกคำร้องสำหรับลูกหนี้ที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับลูกหนี้ที่ 4 ให้เป็นพับ
ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีในส่วนลูกหนี้ที่ 4 ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ ผู้ร้องมีนายสุเนตร ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้ร้องเบิกความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และนายสนอง ลูกหนี้ที่ตาย จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ตามสำเนาสัญญาโอนสินทรัพย์และสำเนาหนังสือหลักฐานการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 ลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และนายสนองทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ร้อง และวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ลูกหนี้ที่ 1 และนายสนองทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ดังกล่าวและนายสนองผิดนัดผิดสัญญาชำระหนี้ให้ผู้ร้องบางส่วนและผู้ร้องรับโอนที่ดินหลักประกันของฝ่ายลูกหนี้เป็นการชำระหนี้อีกบางส่วนแล้ว คงเหลือหนี้ค้างชำระคิดตั้งแต่ผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องจนถึงวันยื่นคำร้องจำนวน 116,790,968.11 บาท ตามตารางคำนวณดอกเบี้ย รายการชำระหนี้และการบังคับหลักประกันชำระหนี้กับสำเนาคำขอโอนที่ดินหลักประกัน เห็นว่า ผู้ร้องนำสืบเพียงการรับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องและการเป็นหนี้ค้างชำระของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และนายสนองลูกหนี้ที่ตายหลังจากผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาเท่านั้น มิได้นำสืบถึงมูลหนี้เดิมเพื่อให้รับฟังได้ว่าฝ่ายลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมในหนี้ประเภทใด และผิดนัดผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้เดิมเมื่อใดหรือชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อใด ซึ่งแม้หากนับอายุความตั้งแต่ขณะนั้นตามแต่กรณีจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 แล้วยังไม่พ้นกำหนดอายุความ แต่ฝ่ายลูกหนี้ดังกล่าวยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่า มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและจำนอง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฝ่ายลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมตั้งแต่ปี 2537 และโต้แย้งด้วยว่า การที่ฝ่ายลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งก็คือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เมื่อปี 2548 และปี 2549 เป็นการรับสภาพความรับผิดหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว อายุความมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 หนี้ตามคำร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้ว ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้านดังกล่าว คดีของผู้ร้องย่อมขาดอายุความตามที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบว่า เจ้าหนี้เดิมและผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากฝ่ายลูกหนี้ตั้งแต่เมื่อใดหรือมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าคดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ จึงต้องฟังว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของนายสนองลูกหนี้ที่ตายตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และมาตรา 82 และไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ข้ออื่นเพราะมิได้ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของนายสนองลูกหนี้ที่ตายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของลูกหนี้ดังกล่าวฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องสำหรับลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างผู้ร้องกับลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ให้เป็นพับ