แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชน ยื่นฟ้องนายอำเภอเมืองชัยภูมิ ที่ ๑ นายกเทศมนตรีตำบล ชีลอง ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๗ ผู้ฟ้องคดีนำที่ดินแปลงดังกล่าวยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่ผู้แทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คัดค้านการรังวัดพื้นที่บางส่วน โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับทางสาธารณประโยชน์ จนเวลาล่วงเลยมาเกือบ ๑ ปี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามก็ยังไม่ดำเนินการตรวจสอบว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีทับทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ และจะดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่านับแต่วันที่มีการคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒ ปี กว่าแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังคงเพิกเฉยในการพิจารณาตรวจสอบ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ตรวจสอบเอกสารข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อจัดทำคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีออกโฉนดที่ดินตามคำขอให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๗ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ พิจารณาแล้วเสร็จ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เมื่อคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีนำรังวัดออกโฉนดที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์ จนนับถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า ๒ ปี แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยังไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะของที่ดินพิพาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พิจารณาออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง