คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10842/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 วรรคท้าย ซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงนั้น กฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าคู่ความจักมีคำขอหรือไม่ โดยหากศาลไม่มีดุลพินิจเป็นประการอื่น ก็ต้องสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดตามมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ในการที่ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในคำพิพากษา หากศาลมีคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีต้องชดใช้ให้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี ศาลก็จะต้องระบุจำนวนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไว้โดยชัดแจ้ง สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมว่า “ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวนี้ย่อมชัดเจนแล้วว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีดุลพินิจไม่สั่งให้จำเลยต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์ แต่ให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแทนโจทก์ จึงถือว่าศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท มาด้วย จึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรคืนแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรหรือมีคำสั่งให้โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นเงิน 21,238,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแทนโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ จำเลย และนางสาว อ. ไปตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า โจทก์เป็นบุตรของจำเลยกับนางสาว อ.
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยให้นางสาว อ. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์แต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยจ่ายค่าใช้จ่ายในการคลอดและค่าบริบาลทารก รวมเป็นเงิน 150,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาบุตรแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายในแต่ละช่วงของอายุและการศึกษาดังนี้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงอนุบาลปีที่ 3 เดือนละ 20,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เดือนละ 30,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เดือนละ 38,000 บาท และค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีหรือบรรลุนิติภาวะเดือนละ 47,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าใช้จ่ายในการคลอดและค่าบริบาลทารกเป็นเงิน 200,000 บาท และจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ก่อนวัยเรียนในช่วงอายุ 1 ถึง 3 ปี เดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า นางสาว อ. มารดาโจทก์รู้จักกับจำเลยประมาณเดือนกรกฎาคม 2551 ขณะนางสาว อ. ไปเดินแบบงานเปิดสายการบินสมุย ประมาณเดือนสิงหาคม 2551 นางสาว อ. คบหากับจำเลยในฐานะคนรักและมีการร่วมประเวณีกันหลายครั้ง ต่อมานางสาว อ. ตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 นางสาว อ. คลอดโจทก์ที่โรงพยาบาลเวชธานี นางสาว อ. และนางสาว ย. น้องสาวของนางสาว อ. พยายามติดต่อจำเลย แต่ไม่ได้รับการติดต่อ เมื่อมีการดำเนินคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ จำเลย และนางสาว อ. ไปตรวจพิสูจน์บุคคลเพื่อหาสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์เป็นบุตรของจำเลยกับนางสาว อ. คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยจะต้องจ่ายแก่โจทก์ควรเป็นจำนวนเท่าใด โดยโจทก์อ้างว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นจำนวนต่ำไป ส่วนจำเลยอ้างว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่กำหนดให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์สูงเกินไป นั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามผลการตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ว่าโจทก์เป็นบุตรของจำเลยกับนางสาว อ. ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บัญญัติให้บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ และมาตรา 1598/38 กำหนดว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตร ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายอยู่ในตัวว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องเป็นหน้าที่ของทั้งบิดาและมารดา และต้องเป็นไปโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งกรณี เมื่อโจทก์นำสืบแต่เพียงว่า นางสาว อ. มารดาของโจทก์มีรายได้เดือนละ 100,000 บาทเศษ ส่วนจำเลยนั้นโจทก์นำสืบเพียงว่าเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทสันธิญา เกาะพงัน รีสอร์ต แอนด์ สปา จำกัด โดยไม่ปรากฏว่ามีรายได้เป็นอย่างไร แต่ได้ความตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยมีเงินเดือน เดือนละ 50,000 บาท การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จึงต้องตั้งอยู่บนฐานของฐานะของจำเลยและนางสาว อ. ผู้เป็นบิดาและมารดาของโจทก์ และสภาพความเป็นอยู่ในแต่ละช่วงวัยของโจทก์ในฐานะผู้รับ แต่ทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า จะใช้จ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์จนบรรลุนิติภาวะคิดเป็นเงิน 21,238,800 บาท เป็นการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูที่เป็นเพียงความคาดหมายและสูงเกินกว่าความสามารถของผู้ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์ขอจึงชอบแล้ว แต่การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ ในช่วงก่อนวัยเรียน เดือนละ 15,000 บาท ระดับอนุบาล เดือนละ 20,000 บาท ระดับประถมศึกษา เดือนละ 30,000 บาท ระดับมัธยมศึกษา เดือนละ 38,000 บาท และระดับปริญญาตรีหรือจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ เดือนละ 47,000 บาท ยังไม่เหมาะสม เพราะเมื่อบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามความในมาตรา 1564 ก็จะหมายความว่าค่าใช้จ่ายอุปการะโจทก์ในช่วงก่อนวัยเรียน อายุ 1 ปี ถึง 3 ปี เดือนละ 30,000 บาท ระดับอนุบาล เดือนละ 40,000 บาท ระดับประถมศึกษา เดือนละ 60,000 บาท ระดับมัธยมศึกษา เดือนละ 76,000 บาท และระดับปริญญาตรี เดือนละ 94,000 บาท ซึ่งสูงเกินกว่าอัตภาพและฐานะของจำเลยผู้ให้และสูงเกินกว่าฐานะของโจทก์ผู้รับ ศาลฎีกาสมควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสภาพของโจทก์ผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาโดยให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูในช่วงก่อนวัยเรียน อายุ 1 ถึง 3 ปี จนจบการศึกษาชั้นอนุบาลเป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 เดือนละ 15,000 บาท ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 เดือนละ 20,000 บาท และระดับปริญญาตรีจนบรรลุนิติภาวะ เดือนละ 30,000 บาท อย่างไรก็ดี หากภายหลังจากศาลพิพากษา โจทก์สามารถแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป จะขอให้ศาลแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูก็ย่อมจะยกขึ้นว่ากล่าวได้ตามมาตรา 1598/39 ส่วนค่าใช้จ่ายในการคลอดและบริบาลทารก ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยจ่ายเงิน 200,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 7 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 128/1 วรรคท้าย ซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงนั้น กฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าคู่ความจักมีคำขอหรือไม่ โดยหากศาลไม่มีดุลพินิจเป็นประการอื่น ก็ต้องสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดตามมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ในการที่ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในคำพิพากษา หากศาลมีคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีต้องชดใช้ให้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี ศาลก็จะต้องระบุจำนวนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไว้โดยชัดแจ้ง สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมว่า “ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวนี้ย่อมชัดเจนแล้วว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีดุลพินิจไม่สั่งให้จำเลยต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์ แต่ให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแทนโจทก์ จึงถือว่าศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท มาด้วย จึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรคืนแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ช่วงก่อนวัยเรียนอายุ 1 ถึง 3 ปี จนกระทั่งโจทก์สำเร็จการศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 3 เดือนละ 10,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 เดือนละ 15,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 เดือนละ 20,000 บาท และค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาระดับปริญญาตรีจนบรรลุนิติภาวะเดือนละ 30,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาเฉพาะโจทก์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share