แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองให้การชัดเจนในประเด็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีและหนังสือมอบอำนาจให้ลงนามในสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่ารถยนต์เช่าซื้อได้สูญหายไปในระหว่างสัญญาเช่าซื้อแต่ประการใด ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เกี่ยวกับรถยนต์เช่าซื้อได้สูญหายเป็นการอุทธรณ์ในเรื่องที่นอกเหนือคำให้การที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอีกจึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ส่งมอบรถยนต์เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะใช้รถยนต์เช่าซื้อตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์เช่าซื้อ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ อันเป็นผลตามบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม การที่โจทก์จะประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์หรือไม่นั้น ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 664,702.72 บาท และให้ร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์ 370,000 บาท กับค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,362.12 บาท รวมเป็นเงิน 1,039,064.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาแทนเป็นเงิน 492,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ 148,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 สิงหาคม 2551) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์หรือใช้ราคาแทนแต่ไม่เกิน 6 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า วันที่ 30 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ษว 7666 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ ในราคา 997,054.08 บาท ตกลงชำระ 48 งวด งวดละ 20,771.96 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,454.04 บาทต่อเดือน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 17 ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและบอกเลิกสัญญาตามข้อสัญญาแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองที่ว่า รถยนต์เช่าซื้อได้สูญหายไปนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การชัดเจนในประเด็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีและหนังสือมอบอำนาจให้ลงนามในสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่ารถยนต์เช่าซื้อได้สูญหายไปในระหว่างสัญญาเช่าซื้อแต่ประการใด ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เกี่ยวกับรถยนต์เช่าซื้อได้สูญหายเป็นการอุทธรณ์ในเรื่องที่นอกเหนือคำให้การที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอีกจึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองเช่นเดียวกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าซื้อมิใช่ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ หากรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับสู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ก็นำรถยนต์ดังกล่าวออกขายทอดตลาด โจทก์ไม่เคยนำรถยนต์ออกให้บุคคลอื่นเช่า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์นั้น เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ส่งมอบรถยนต์เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะใช้รถยนต์เช่าซื้อตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์เช่าซื้อ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ อันเป็นผลตามบทบัญญัติของมาตรา 391 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่โจทก์จะประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์หรือไม่นั้น ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ