คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินที่โจทก์ทั้งแปดอ้างว่ามีสิทธินั้นเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น แม้ว่าโจทก์ทั้งแปดจะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเมื่อมีการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสามหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งแปดไม่ โจทก์ทั้งแปดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งแปดฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ทั้งแปดและทำให้ที่ดินอยู่ในสภาพเรียบร้อยตามเดิม ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายเป็นรายปีปีละ 72,000 บาท นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ทั้งแปดจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกจากที่ดิน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามฟ้อง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งแปดคนละ 9,000 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งแปด โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ทั้งแปดคนละ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งแปดฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 6 ถึงแก่ความตาย นางสาวปาหนัน บุตรของนางปราณีโจทก์ที่ 6 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งแปดและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายทั่งกับนางหลง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นภริยาและบุตรของจำเลยที่ 1 เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ นายทั่งได้ซื้อมาจากนายทอง ในราคา 14,000 บาท เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2517 ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย มีอาณาเขตทิศเหนือจดเขาหรือผนังเขาทิศใต้จดที่ดินของนายศักดิ์ ทิศตะวันตกจดที่ดินของนายวี ทิศตะวันออกจดที่ดินของนายเดชา ขณะซื้อขายที่ดินพิพาทตั้งอยู่ที่บ้านยางเกี่ยวแฝก ตำบลห้วยยายจิ๋ว กิ่งอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ต่อมาที่ดินพิพาทถูกเปลี่ยนเขตพื้นที่การปกครองหลายครั้งตาม ภ.บ.ท.6 และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ต่อมานายทั่งถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงตกแก่โจทก์ทั้งแปดและจำเลยที่ 1 คนละส่วนเท่า ๆ กัน ตามแผนที่ดินสังเขปปัจจุบันที่ดินพิพาทมีผู้เข้าทำกินอยู่จำเลยทั้งสามครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ตาม ภ.บ.ท.5 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปแจ้งต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิเพื่อขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เป็นที่ดินกลุ่มที่ 4286 แปลงเลขที่ 6 เนื้อที่ 50 ไร่ และจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เป็นที่ดินกลุ่มที่ 4286 แปลงเลขที่ 14 เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา ตามแผนตรวจสอบสิทธิการใช้ประโยชน์ แนวเขตที่ดิน และคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งแปดเป็นข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดหรือไม่ โจทก์ทั้งแปดอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายทั่งซื้อมาจากนายทองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2517 ขณะซื้อขายที่ดินพิพาทตั้งอยู่ที่บ้านยางเกี่ยวแฝก ตำบลห้วยยายจิ๋ว กิ่งอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ต่อมาปี 2520 นายทั่งได้แจ้งเสียภาษีที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนายทั่งโดยระบุที่ตั้งของที่ดินพิพาทว่าตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยยายจิ๋ว กิ่งอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ต่อมาปี 2518 ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ทำให้ที่ดินพิพาทเปลี่ยนไปตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ เมื่อนายทั่งถึงแก่ความตายในปี 2540 แล้ว โจทก์ทั้งแปดและจำเลยที่ 1 ได้แบ่งมรดกที่ดินพิพาทออกเป็น 9 ส่วน โดยจำเลยที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทด้วยตามแผนที่ดินสังเขป โจทก์ทั้งแปดได้เข้าทำกินในที่ดินพิพาทได้ 2 ถึง 3 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งแปดอ้างว่าต้องการนำเงินจากการทำไร่มันสำปะหลังในที่ดินพิพาทไปส่งเสียบุตรเรียนหนังสือ โจทก์ทั้งแปดเห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นพี่น้องกันจึงตกลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทน คงมีแต่ข้อตกลงว่าให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่แทนโจทก์ทั้งแปด ต่อมาโจทก์ทั้งแปดทราบว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทออกประกาศขายเนื่องจากที่ดินพิพาทได้ออกเอกสารสิทธิเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 แล้ว และเมื่อโจทก์ทั้งแปดไปตรวจสอบที่ดินพิพาทที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ จึงได้ทราบว่ามีที่ดินพิพาทได้ถูกประกาศให้เป็นที่ดินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้นำที่ดินพิพาทไปแจ้งขอเข้าทำประโยชน์ต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิโดยอยู่ระหว่างการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 – 01 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ โจทก์ทั้งแปดได้ยื่นหนังสือคัดค้านการกระทำของจำเลยทั้งสามไว้ตามหนังสือคัดค้าน ส่วนจำเลยทั้งสามอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ไปขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดทั้งไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดตั้งอยู่ที่ใด ที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิตาม ภ.บ.ท.5 ที่จำเลยทั้งสามนำไปแจ้งขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิตามรายงานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ และตามแบบตรวจสอบการใช้ประโยชน์แนวเขตที่ดิน และคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินก็เป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับการให้จากนายทั่งประมาณ 2 ถึง 3 ปี ก่อนนายทั่งจะถึงแก่ความตาย เห็นว่า ที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดตามหนังสือสัญญาซื้อขายกับที่ดินที่จำเลยทั้งสามนำไปแจ้งขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตาม ภ.บ.ท.5 ต่างก็เคยเป็นที่ดินมือเปล่าของนายทั่งบิดาโจทก์ทั้งแปดและจำเลยที่ 1 มาก่อน ทั้งปรากฏตาม ภ.บ.ท.5 ของที่ดินมือเปล่าของจำเลยทั้งสามว่า ที่ดินทั้งสองแปลงล้วนเคยมีที่ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 10 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ มาก่อนแม้ต่อมาที่ดินมือเปล่าของจำเลยทั้งสามจะเปลี่ยนมาตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ในภายหลังก็ตาม แต่ตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดแผ่นสุดท้าย ก็ปรากฏว่าที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดก็เคยมีที่ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ มาก่อนเช่นกัน และปัจจุบันที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดได้เปลี่ยนที่ตั้งใหม่เป็นหมู่ที่ 21 บ้านยางเกี่ยวแฝก ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ แล้ว ที่ดินมือเปล่าของจำเลยทั้งสามที่นำไปแจ้งขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตที่ดินปฏิรูปก็ปรากฏในแบบตรวจสอบสิทธิการใช้ประโยชน์ แนวเขตที่ดินและคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินและตามรายงานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิว่า จำเลยที่ 2 ระบุว่าที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 2 ตั้งอยู่ที่บ้านยางเกี่ยวแฝกพัฒนา หมู่ที่ 21 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ และจำเลยที่ 3 ระบุว่าที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 3 ตั้งอยู่บ้านยางเกี่ยวแฝกหมู่ที่ 3 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งระบุในแบบตรวจสอบสิทธิการใช้ประโยชน์แนวเขตที่ดินและคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินว่า ที่ดินของจำเลยที่ 2 ตั้งอยู่บ้านยางเกี่ยวแฝกพัฒนา หมู่ที่ 21 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยมีนายอุดม กำนันตำบลวะตะแบกเป็นผู้รับรอง ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ระบุในแบบตรวจสอบสิทธิการใช้ประโยชน์แนวเขตที่ดิน และคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินว่า ที่ดินของจำเลยที่ 3 ตั้งอยู่บ้านยางเกี่ยวแฝก หมู่ที่ 3 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยมีนายชูเกียรติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 21 ตำบลวะตะแบกเป็นผู้รับรอง ซึ่งที่ดินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองเป็นที่ดินแปลงเดียวกันจำเลยที่ 2 ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ส่วนจำเลยที่ 3 ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่เศษ ที่ดินของจำเลยที่ 2 ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 21 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เช่นเดียวกันกับที่ตั้งของที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดคงแตกต่างกันแต่เพียงที่ตั้งของที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 3 เท่านั้น แต่ที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 3 มีนายชูเกียรติซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 21 เป็นผู้รับรองการทำประโยชน์จึงเชื่อว่าพื้นที่ในหมู่ที่ 3 ต้องอยู่ติดต่อกับพื้นที่ในหมู่ที่ 21 ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เกิดความสับสนไม่แน่ใจว่าที่ดินส่วนที่ตนครอบครองตั้งอยู่หมู่ที่เท่าใดแน่ และตั้งอยู่หมู่เดียวกันทั้งแปลงหรือไม่ ทำให้มีการแจ้งแก่ทางราชการเกี่ยวกับที่ตั้งของที่ดินในเอกสารต่าง ๆ ต่างกัน แต่เนื่องจากที่ดินส่วนของจำเลยที่ 2 และส่วนของจำเลยที่ 3 เป็นที่ดินผืนเดียวกันและอยู่ต่อกัน ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งการได้มาของที่ดินไว้ว่าซื้อมาจากนายทองในระหว่างปี 2515 ถึง 2522 ตามแบบตรวจสอบสิทธิการใช้ประโยชน์แนวเขตที่ดิน และคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของนายทอง พยานโจทก์ทั้งแปดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมที่เบิกความว่า พยานได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายทั่งเมื่อประมาณปี 2517 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายอีกทั้งจำนวนเนื้อที่ของที่ดินจำเลยที่ 2 และที่ 3 รวมกันก็มีเนื้อที่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปด และโจทก์ทั้งแปดกับจำเลยทั้งสามต่างนำสืบตรงกันว่า ทางทิศตะวันออกของที่ดินทั้งสองฝ่ายต่างจดที่ดินของนายเดชาเหมือนกัน พยานหลักฐานโจทก์ทั้งแปดจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดตามแผนที่สังเขปกับที่ดินมือเปล่าตาม ภ.บ.ท.5 ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นที่ดินแปลงเดียวกันและตั้งอยู่หมู่ที่ 21 บ้านยางเกี่ยวแฝก ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ที่เดียวกัน ฎีกาของโจทก์ทั้งแปดในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ทั้งแปดมีว่า โจทก์ทั้งแปดมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า หลังจากพยานทราบจากบุตรชายว่าจำเลยที่ 1 จะประกาศขายที่ดินพิพาททั้งแปลงอ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 พยานกับพวกจึงไปสอบถามผู้ใหญ่บ้านบ้านยางเกี่ยวแฝกได้รับแจ้งว่า จำเลยทั้งสามได้นำที่ดินพิพาทไปแจ้งขอออกเป็นหนังสือ ส.ป.ก. 4-01 ต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิแล้ว เมื่อไปสอบถามสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิได้รับแจ้งว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นำที่ดินพิพาทมายื่นเรื่องขอออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. 4 – 01 เป็นชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขณะนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการออกเอกสารให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่เบิกความว่า ที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกประกาศให้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ ภายหลังจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับมอบที่ดินของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นำที่ดินไปแจ้งการครอบครองเพื่อแสดงต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิเพื่อขออนุญาตเข้าทำกินในที่ดินดังกล่าว และต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับอนุญาตให้เข้าทำกินในที่ดินปฏิรูปซึ่งเป็นที่ดินเดิมของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ที่ดินที่โจทก์ทั้งแปดอ้างว่ามีสิทธินั้นเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น แม้ว่าโจทก์ทั้งแปดจะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเมื่อมีการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสามหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งแปดไม่ โจทก์ทั้งแปดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งแปดข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share