คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2412/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งด้วย เมื่อโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว คดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาย่อมไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง
แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6” แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างเกินกว่าความหมายของผู้เสียหายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) ถือได้ว่าขัดกัน การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44 /1 จึงไม่ต้องถือความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น” ทั้งการที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายไม่อาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่พนักงานอัยการได้เรียกแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ 44/1 วรรคสาม ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ทั้ง มาตรา 44/1 วรรคสอง ก็บัญญัติความว่า…. ถือว่าคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ย จึงใช้สิทธิในคดีส่วนแพ่งได้ และคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อคดีส่วนแพ่งโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นพิพากษายอมความแล้ว ซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนอาญาขอให้รอการลงโทษเท่านั้น คดีส่วนแพ่งจึงยุติและต้องบังคับไปตามคำพิพากษาตามยอม ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบที่วินิจฉัยให้เฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำเลยชดใช้หรือคืนเงินสดที่ยังไม่ได้รับคืนเป็นเงิน 1,900,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา นางพรทิพย์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,900,000 บาท ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การรับสารภาพ
คดีในส่วนแพ่งโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ขอให้ศาลพิพากษาตามยอม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 6 เดือน และพิพากษาให้คดีในส่วนแพ่งระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ค่าฤชาธรรมธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ยกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมและยกคำร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย คำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นอันตกไป กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเป็นคดีแพ่ง และยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องและได้ดำเนินการเรียกต้นเงิน 1,900,000 บาท คืนแทนโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์แทนและยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,900,000 บาท ดังนี้โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนี้คดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว คดีส่วนแพ่งไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลย จำเลยให้การสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ร่วมหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลย ซึ่งแสดงข้อความจริงอันเป็นเท็จว่าจำเลยจะนำเงินไปให้ลูกค้าธนาคารกู้ยืม โดยจำเลยเสนอผลการตอบแทนให้โจทก์ร่วมร้อยละ 5 ต่อเดือน ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าผลตอบแทนมีลักษณะเป็นดอกเบี้ย โจทก์ร่วมมิได้ประสงค์ให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินจากโจทก์ร่วม มิใช่การมอบเงินให้จำเลยไปปล่อยกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย นั้น เห็นว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่หากมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ ศาลก็ต้องยกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชักชวนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหาย ให้นำเงินมาให้จำเลย แล้วจำเลยจะนำเงินไปให้ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาอำนาจเจริญ กู้ยืม โดยจำเลยเสนอผลตอบแทนให้แก่โจทก์ร่วมร้อยละ 5 ต่อเดือน หากโจทก์ร่วมให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวนมากจะได้รับค่าตอบแทนมาก โจทก์ร่วมซึ่งให้จำเลยกู้ยืมและจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินไว้แก่โจทก์ร่วมในบางครั้ง เช่นนี้ เห็นได้ว่าเป็นกรณีโจทก์ร่วมให้จำเลยกู้ยืมเงิน โดยเข้าใจได้ว่าจำเลยจะนำเงินของโจทก์ร่วมไปปล่อยกู้ให้ได้ผลตอบแทนอัตราที่มากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 60 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่จะสามารถเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 อีกทั้ง เป็นการที่โจทก์ร่วมให้จำเลยกู้ด้วยหวังจะได้รับผลตอบแทนจากจำเลยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนหรือร้อยละ 60 ต่อปี แม้จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยจำเลยไม่ได้นำไปปล่อยกู้ ทำให้โจทก์ร่วมไม่ได้รับประโยชน์จากการปล่อยกู้ของจำเลยซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของจำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยกู้ยืมเอาไปกระทำการไม่ชอบ และโดยรับผลตอบแทนจากการให้กู้อัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนหรือร้อยละ 60 ต่อปี ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดเรียกดอกเบี้ยอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ (ค) นอกจากดอกเบี้ย ยังบังอาจกำหนดจะเอาหรือรับเอา ซึ่ง…..จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ซึ่งพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 ก็ยังคงบัญญัติเป็นความผิด ดังนี้ การกระทำของโจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง และยกคำขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเป็นคดีแพ่ง และยกคำร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่” ดังนี้คดีส่วนแพ่ง จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญาเนื่องจากการดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้พนักงานอัยการมีเพียงอำนาจในการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางประเภทเท่านั้น แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6” แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างเกินกว่าความหมายของผู้เสียหายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) ถือได้ว่าขัดกันการตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44 /1 จึงไม่ต้องถือความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น” ทั้งการที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายไม่อาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่พนักงานอัยการได้เรียกแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และ 44/1 วรรคสาม ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ทั้ง มาตรา 44/1 วรรคสอง ก็บัญญัติความว่า…. ถือว่าคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ย จึงใช้สิทธิในคดีส่วนแพ่งได้ดังที่ได้วินิจฉัย และคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อคดีส่วนแพ่งโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2559 และศาลชั้นต้นพิพากษายอมความแล้ว ซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนอาญาขอให้รอการลงโทษเท่านั้น คดีส่วนแพ่งจึงยุติและต้องบังคับไปตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบที่วินิจฉัยให้เฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีส่วนแพ่งว่ากรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเป็นคดีแพ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ในคดีส่วนแพ่งให้บังคับตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยกคำร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share