คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13293/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ขอถอนฟ้องคดีภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 5 ยื่นคำให้การแล้วซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง บัญญัติว่า “…ศาลจะอนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ (1) ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมี ก่อน…” ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาสั่งได้ ดังนั้น แม้โจทก์ขอถอนฟ้องอ้างว่าฟ้องไม่สมบูรณ์ และจำเลยที่ 1 และที่ 5 จะคัดค้านการถอนฟ้องเหตุตามคำร้องโจทก์ดังกล่าว ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้ และศาลไม่อาจนำข้อที่โจทก์อ้างตามคำร้องขอถอนฟ้องว่าฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาเป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้องด้วย เพราะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้องยื่นฟ้องคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ดังนี้ การถอนฟ้องของโจทก์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าและทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ พ. เป็นคดีใหม่ จำเลยทั้งห้าก็ยังมีสิทธิต่อสู้คดีได้เต็มที่เช่นเดิม จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องคดีของโจทก์ไม่สุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีตามจำเลยที่ 1 และที่ 5 คัดค้าน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 125107 และ 129095 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ให้ใช้โฉนดที่ดินฉบับเดิมแทนให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงข้างต้นแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าใช้จ่าย ค่าภาษีในการโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นฟ้องนายไพโรจน์และทายาทของนายไพโรจน์ด้วย เนื่องจากขณะยื่นฟ้อง โจทก์ไม่สามารถสืบหาทายาทของนายไพโรจน์ได้ ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์
จำเลยที่ 1 และที่ 5 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า การถอนฟ้องของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 เสียเปรียบในรูปคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าขึ้นศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 5 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้แต่เพียงว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 5 ชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามคำร้องขอถอนฟ้อง โจทก์อ้างเหตุว่า ในสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนขายให้แก่นายไพโรจน์ นายไพโรจน์โอนขายต่อให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่อมาจำเลยที่ 3 และที่ 4 โอนขายต่อให้จำเลยที่ 5 แต่เนื่องจากนายไพโรจน์ได้ถึงแก่ความตายและไม่สามารถสืบหาทายาทในขณะนั้นได้ โจทก์จึงไม่ได้ยื่นฟ้องนายไพโรจน์หรือทายาทโดยธรรมของนายไพโรจน์ ทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องคัดค้านทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทราบว่านายไพโรจน์ถึงแก่ความตายไปก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดี จำเลยที่ 1 และที่ 5 ให้การต่อสู้ว่าการทำนิติกรรมตามฟ้องของนายไพโรจน์กระทำโดยสุจริต การถอนฟ้องคดีของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 เสียเปรียบ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ขอถอนฟ้องคดีภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 5 ยื่นคำให้การแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง บัญญัติว่า “…ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ (1) ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมี ก่อน…” ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาสั่งได้ ดังนั้น แม้โจทก์ขอถอนฟ้องอ้างว่าฟ้องไม่สมบูรณ์ และจำเลยที่ 1 และที่ 5 จะคัดค้านการถอนฟ้องเหตุตามคำร้องโจทก์ดังกล่าว ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้ และศาลไม่อาจนำข้อที่โจทก์อ้างตามคำร้องขอถอนฟ้องว่าฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาเป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้องด้วย เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้องยื่นฟ้องคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ดังนี้ การถอนฟ้องของโจทก์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าและทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายไพโรจน์เป็นคดีใหม่ จำเลยทั้งห้าก็ยังมีสิทธิต่อสู้คดีได้เต็มที่เช่นเดิม จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องคดีของโจทก์ไม่สุจริตทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 คัดค้าน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีจำเลยที่ 1 และที่ 5 เพราะเห็นว่าทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 เสียเปรียบในเชิงคดีนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีนี้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share