คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6914/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีเพียงเอกสารใบ ภ.บ.ท. 5 แสดงว่าโจทก์มีสิทธิเหนือที่ดินพิพาท แต่เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารสิทธิแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินที่พิพาทแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย น. ครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อประมาณ ปี 2494 ก่อนบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและรัฐยังไม่ได้จัดที่ดินเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ไม่ปรากฏว่า น. มีเอกสารใด ๆ แสดงกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทหรือได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 แสดงให้เห็นว่าตนมีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทอย่างไร ทั้งการครอบครองเป็นระยะเวลานานมากขนาดนี้น่าที่ผู้ครอบครองต้องมีเอกสารสิทธิเหนือที่ดินพิพาทบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏ และโจทก์ก็เพิ่งแจ้งเสียภาษีบำรุงท้องที่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 โดยบุคคลที่ครอบครองก่อนหน้าโจทก์ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ข้อนำสืบดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยง่าย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ไม่น่าเชื่อว่า น. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินจริง แม้ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งเรื่องโจทก์ครอบครองที่ดินต่อเนื่องกันมาก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็นำสืบอยู่ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโจทก์ต้องมีภาระพิสูจน์สิทธิของตนว่ามีอยู่จริง เมื่อไม่ปรากฏว่า น. มีสิทธิใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายเหนือที่ดินพิพาท น. จึงไม่มีสิทธิโดยชอบเหนือที่ดินพิพาทที่จะโอนต่อ ๆ มาจนถึงโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทไม่มีบุคคลใดถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย รัฐจึงออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 6 โจทก์ยึดถือครอบครองอาคารบ้านพักและอาคารอเนกประสงค์ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์รื้อถอนแล้วโจทก์ไม่รื้อถอน จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจรื้อถอนอาคารบ้านพักและอาคารอเนกประสงค์กับต้นมะพร้าวซึ่งปลูกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้เองตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 21, 22 ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้คงเรียกโจทก์สำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยสำนวนที่สองว่า โจทก์ ให้เรียกจำเลยที่ 1 สำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์สำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 สำนวนแรกว่า จำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 90,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองพร้อมผู้ใต้บังคับบัญชารวมทั้งบริวารของจำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและห้ามเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย 923,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง 145,198.40 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 1,120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองและผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกไปจากที่พิพาทและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาทและห้ามเกี่ยวข้องต่อไป กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องสำนวนที่สอง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,910,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2525 ได้มีประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินเกาะช้างและเกาะใกล้เคียงท้องที่ตำบลเกาะช้างและตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2525 มีบริเวณตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่นางจิราภรณ์ ข้อหาบุกรุกที่พิพาทตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2546 ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดแจ้งจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ขอพิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 โจทก์มีหนังสือขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดพิสูจน์สิทธิ จากนั้น จำเลยที่ 1 แจ้งความดำเนินคดีอาญาโจทก์ข้อหาร่วมกับนางจิราภรณ์บุกรุกที่พิพาท ระหว่างโจทก์รอผลการพิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 26 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 1 ส่งเจ้าพนักงานทำการรื้อถอนบ้านพักและตัดต้นมะพร้าวในที่พิพาท เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 โจทก์แจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอเกาะช้าง ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารแผ่นที่ 2 และมีหนังสือให้จำเลยทั้งสองเก็บรักษาทรัพย์สินของโจทก์ไว้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2546
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีเพียงเอกสารใบ ภ.บ.ท. 5 แผ่นที่ 2 แสดงว่าโจทก์มีสิทธิเหนือที่ดินพิพาท แต่เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารสิทธิแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินที่พิพาทแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยนายน่าวครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อประมาณ ปี 2494 ก่อนบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและรัฐยังไม่ได้จัดที่ดินเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ไม่ปรากฏว่านายน่าวมีเอกสารใด ๆ แสดงกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทหรือได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 แสดงให้เห็นว่าตนมีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทอย่างไร ทั้งการครอบครองเป็นระยะเวลานานมากขนาดนี้น่าที่ผู้ครอบครองต้องมีเอกสารสิทธิเหนือที่ดินพิพาทบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏ และโจทก์ก็เพิ่งแจ้งเสียภาษีบำรุงท้องที่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 โดยบุคคลที่ครอบครองก่อนหน้าโจทก์ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ข้อนำสืบดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยง่าย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ไม่น่าเชื่อว่านายน่าวครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินจริง แม้ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งเรื่องโจทก์ครอบครองที่ดินต่อเนื่องกันมาก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็นำสืบอยู่ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโจทก์ต้องมีภาระพิสูจน์สิทธิของตนว่ามีอยู่จริง เมื่อไม่ปรากฏว่านายน่าวมีสิทธิใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายเหนือที่ดินพิพาท นายน่าวจึงไม่มีสิทธิโดยชอบเหนือที่ดินพิพาทที่จะโอนต่อ ๆ มาจนถึงโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทไม่มีบุคคลใดถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย รัฐจึงออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 6 โจทก์ยึดถือครอบครองอาคารบ้านพักและอาคารอเนกประสงค์ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์รื้อถอนแล้วโจทก์ไม่รื้อถอน จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจรื้อถอนอาคารบ้านพักและอาคารอเนกประสงค์กับต้นมะพร้าวซึ่งปลูกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้เองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 21, 22 ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์เสียหายเพียงใดอีกต่อไป ทั้งจำเลยทั้งสองไม่ได้ฎีกาขอค่าเสียหายจากโจทก์ จึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 25,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share