คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370-1371/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมนั้นจะทำได้ก็แต่ตามแบบใดแบบหนึ่ง (มาตรา1655)โดยลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน(มาตรา 1656)โดยทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้(มาตรา 1657) ฯลฯ
เมื่อปรากฏว่าพินัยกรรมนั้นทำขึ้นโดยเปิดเผยเป็นสามฉบับข้อความตรงกัน มอบให้ผู้รับพินัยกรรมไว้ 1 ฉบับ ผู้ทำเก็บไว้ 1 ฉบับ การทำมิได้มีการปิดบังอย่างใดเช่นนี้มิใช่เป็นพินัยกรรมทำตามแบบเอกสารลับแม้จะระบุไว้ว่าฉบับหนึ่งให้ฝากอำเภอเก็บเป็นเอกสารลับนั้น ก็เป็นการเข้าใจของผู้ทำว่าเอกสารที่ฝากอำเภอนั้น อำเภอย่อมเก็บลับเท่านั้นเอง ผู้ทำมิได้เจตนาทำเป็นแบบเอกสารลับและเพียงเท่านี้ยังมิทำให้พินัยกรรมนั้นกลายเป็นพินัยกรรมทำตามแบบเอกสารลับไปไม่

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นให้พิจารณาพิพากษารวมกันมา

สำนวนแรกนายประเสริฐฟ้องว่าจำเลยบังอาจใช้นามสกุลบุนนาคโดยจำเลยมิได้มีความสัมพันธ์ทางใด ๆ กับวงศ์สกุลของโจทก์ ขอให้ห้าม

จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยเป็นภริยาพระพิพัชภูมิภาค โดยชอบด้วยกฎหมายมาแต่ พ.ศ. 2477 จึงมีสิทธิใช้นามสกุลบุนนาคโดยสมบูรณ์โจทก์ไม่มีสิทธิห้าม

สำนวนหลังนางสาวอนงค์ฟ้องกล่าวความทำนองเดียวกับคำฟ้องของนายประเสริฐและกล่าวต่อไปเป็นใจความว่าจำเลยไม่ใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพระพิพัชฯ บิดาโจทก์ จำเลยเป็นเพียงคนรับใช้มาได้เสียกับพระพิพัชฯ หลังประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 แล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2486 พระพิพัชฯ กับจำเลยร่วมกันไปแจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนอำเภอพระนครว่า จำเลยเกิด พ.ศ. 2461 และได้เป็นภริยาพระพิพัชฯ มาก่อน พ.ศ. 2477 ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงจำเลยเกิด พ.ศ. 2464 พินัยกรรม 3 ฉบับที่พระพิพัชฯ ทำขึ้นเป็นโมฆะเพราะทำผิดแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1660 จึงขอให้ห้ามไม่ให้จำเลยใช้นามสกุล และห้ามไม่ให้จำเลยเกี่ยวข้องกับกองมรดกของพระพิพัชฯ กับขอให้พิพากษาว่าทะเบียนฐานะภริยาและพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ

จำเลยคงให้การดังในสำนวนแรกและต่อสู้ว่า พิพัยกรรมของพระพิพัชฯ หาได้ทำเป็นเอกสารลับไม่

ศาลแพ่งฟังว่าจำเลยเกิด พ.ศ. 2464 แต่พระพิพัชฯ แจ้งผิดไปเป็น พ.ศ. 2461 แม้จำเลยจะเกิด พ.ศ. 2464 และจำเลยเป็นภรรยาพระพิพัชฯ นั้นจำเลยก็อายุ 14 ปีแล้ว ตามทะเบียนที่พระพิพัชฯ แจ้งไว้นั้นปรากฏชัดว่าจำเลยเป็นภรรยาพระพิพัชฯ มาแต่ พ.ศ. 2477 ขณะจดทะเบียนจำเลยก็มีบุตรกับพระพิพัชฯ ถึง 3 คนแล้วฟังสมจำเลยข้ออ้างของโจทก์ฟังไม่ได้ ส่วนพินัยกรรมนั้นมีข้อความตรงกันทั้งสามฉบับผู้ทำได้ทำเป็นแบบธรรมดาหาได้มีเจตนาจะทำเป็นเอกสารลับไม่ที่นำไปฝากอำเภอไว้ฉบับหนึ่งก็เพื่อป้องกันการสูญหายเท่านั้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาคงฟังว่าจำเลยเป็นภรรยาพระพิพัชฯ โดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิใช้นามสกุล ส่วนพินัยกรรมนั้นได้ความว่าพระพิพัชฯได้ทำขึ้นโดยเปิดเผย ทำเป็นสามฉบับข้อความตรงกัน มอบให้ผู้รับพินัยกรรมไว้ฉบับหนึ่ง ตนเองเก็บไว้ฉบับหนึ่ง และมิได้มีการปิดบังการทำพินัยกรรมรายนี้แต่อย่างใด ไม่มีเหตุอย่างใดที่จะกล่าวว่าพระพิพัชฯ เจตนาทำเป็นแบบเอกสารลับ ที่ระบุไว้ว่าฉบับหนึ่งให้ฝากอำเภอเก็บเป็นเอกสารลับนั้นก็โดยเข้าใจว่าเอกสารที่ฝากอำเภออำเภอย่อมเก็บลับเท่านั้น มิได้เจตนาทำเป็นแบบเอกสารลับทั้งพินัยกรรมอีก 2 ฉบับก็ยังเปิดเผยอยู่ก็ยิ่งทำให้เห็นเจตนาของผู้ทำได้ชัดยิ่งขึ้น

พิพากษายืน

Share