คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้เงินจากการออกจากงาน จำเลยย่อมสามารถนำมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาหย่าได้ แต่จำเลยก็หากระทำไม่ กลับอ้างลอย ๆ ว่านำไปชำระหนี้นอกระบบหมด จำเลยจะอ้างเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่จำเลยอ้างว่านอกระบบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีมูลที่จะเรียกร้องตามกฎหมายมามีเหตุผลเหนือกว่าการชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่าที่จำเลยมีตามสัญญาที่ตนกระทำอันเป็นหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีในฐานะบิดาที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์หาได้ไม่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาหย่ามีข้อตกลงชัดเจนที่จำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร มีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในการจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยมีข้ออ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้ร่วมกันจริง ก็ควรมีการยกขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อนที่จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระผูกพันที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสัญญาหย่าว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยระบุว่า หนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก จึงต้องถือว่า หนี้สินระหว่างจำเลยกับโจทก์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อข้อตกลงที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาหย่า ทั้งสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือสละได้ คดีนี้โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นมารดากระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงยังเป็นของบุตรผู้เยาว์ จำเลยไม่อาจนำมาอ้างขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ ดังนั้นจำเลยจะมาหยิบยกภาระหนี้ดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีต่อโจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองกับค่าอุปกรณ์การเรียนค่าเทอม และค่าเรียนพิเศษของเด็กหญิง ป. ให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงิน 294,735 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 294,735 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน โดยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้แก่คู่ความที่ได้เสียไป
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 ระหว่างสมรสมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิง ป. อายุ 8 ขวบ และเด็กหญิง ค. อายุ 4 ขวบ ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2556 โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนหย่า โดยทำข้อตกลงไว้ตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าว่า “3. เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก 4. เรื่องเกี่ยวกับหนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก … 6. ฝ่ายชายส่งค่าเลี้ยงดูบุตรคนละ 10,000 บาท จำนวน 2 คน เท่ากับ 20,000 บาท ต่อเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2556 ของทุกเดือนในวันที่ 26 จนบุตรทั้งสองอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อุปกรณ์การเรียน ค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษบุตรคนที่ 1 ตามความเป็นจริง ฝ่ายชายเป็นผู้จ่ายทั้งหมด” ต่อมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 จำเลยชำระค่าอุปการะและค่าศึกษาเล่าเรียนบุตรไม่ครบ จากนั้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 จำเลยไม่ชำระเงินให้อีก รวมจำเลยค้างค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นเงิน 240,000 บาท กับค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษของบุตรคนที่ 1 จำนวน 54,735 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยค้างชำระจำนวน 294,735 บาท ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2559 จำเลยออกจากงาน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยมีภาระหนี้สินไม่มีเงินพอชำระตามที่ตกลงในสัญญาหย่าได้ โดยติดต่อโจทก์เพื่อขอลดจำนวนเงิน แต่ติดต่อไม่ได้ ทั้งปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยก่อหนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนร่วมกันเป็นจำนวนกว่า 600,000 ถึง 800,000 บาท จึงขอนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้นั้น เห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยถูกออกจากงานมีรายได้ลดลงนั้น ข้อเท็จจริงกลับได้ความตามทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยถูกออกจากงานตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2559 แต่จำเลยเริ่มชำระเงินไม่ครบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 แล้วหยุดชำระเงินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 อันเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะถูกออกจากงาน จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้ อีกทั้งได้ความว่า จำเลยได้เงินจากการออกจากงาน จำเลยย่อมสามารถนำมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาหย่าได้ แต่จำเลยก็หากระทำไม่ กลับอ้างลอย ๆ ว่านำไปชำระหนี้นอกระบบหมด จำเลยจะอ้างเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่จำเลยอ้างว่านอกระบบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีมูลที่จะเรียกร้องตามกฎหมายมามีเหตุผลเหนือกว่าการชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่าที่จำเลยมีตามสัญญาที่ตนกระทำอันเป็นหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีในฐานะบิดาที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์หาได้ไม่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาหย่ามีข้อตกลงโดยชัดเจนที่จำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร มีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในการจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยมีข้ออ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้ร่วมกันจริง ก็ควรมีการยกขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อนที่จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระผูกพันที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสัญญาหย่าว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยระบุว่า หนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก จึงต้องถือว่า หนี้สินระหว่างจำเลยกับโจทก์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อข้อตกลงที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาหย่า ทั้งสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือสละได้ คดีนี้โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นมารดากระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงยังเป็นของบุตรผู้เยาว์ จำเลยไม่อาจนำมาอ้างขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ ดังนั้นจำเลยจะมาหยิบยกภาระหนี้ดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีต่อโจทก์หาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share