คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นหลานฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของตนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้” เช่นนี้ แม้โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของจ่าสิบเอก ม. ผู้ตายแทนที่ร้อยตำรวจตรี น. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย และมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 352, 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องเป็นการรับโทษเป็นส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 352, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 4 ปี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกโมรา เจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายวันที่ 18 สิงหาคม 2539 ตามแบบรับรองรายการทะเบียนคนตาย จำเลยที่ 1 และผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ ร้อยตำรวจตรีมาโนช พันตรีมนู นางจันทิมา และจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของร้อยตำรวจตรีมาโนชซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2530 จำเลยที่ 1 จึงเป็นย่าโจทก์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกโมราผู้ตายตามสำเนาคำสั่ง จ่าสิบเอกโมราผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 4 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 28900 ถึง 28903 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวทั้งหมดให้แก่ตนเอง แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 28903 มีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28900 ไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28901 ไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28902 ไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 กับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28903 ไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาไปในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่นั้น ซึ่งก่อนที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นหลานฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของตนนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้” เช่นนี้ แม้โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของจ่าสิบเอกโมราผู้ตายแทนที่ร้อยตำรวจตรีมาโนชบิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย และมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องเป็นการรับโทษเป็นส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share