คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8825/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้เลขอารบิค 59 กับอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า FIFTY โจทก์นำมา ขอจดทะเบียนจะเป็นตัวเลขและคำสามัญที่ใช้สื่อสารในการพูดและเขียนตามปกติทั่วไป แต่ในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “59FIFTY” ทำให้เห็นวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้ว่า โจทก์ขอจดทะเบียนเลขอารบิค 59 กับอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า FIFTY รวมกันเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 มิได้ขอจดทะเบียนเพื่อใช้เลขอารบิคและคำดังกล่าวแยกกัน ดังนั้น ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านี้มีคุณสมบัติอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 7 วรรคสอง (3) หรือไม่ จึงต้องพิจารณาทั้ง 2 ส่วนรวมกัน ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 7 วรรคสอง (3) เพียงแสดงให้เห็นว่า ถ้าเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ขอจดทะเบียนเป็นตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น ก็ให้ถือเป็นเด็ดขาดว่าเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ มิได้หมายความว่า ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่มิได้ประดิษฐ์ขึ้นแต่มีลักษณะการนำเสนอและการใช้ร่วมกันในลักษณะเช่นนี้จะไม่สามารถมีลักษณะบ่งเฉพาะได้ในทุกกรณี ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้ง 2 ส่วนรวมกันก็หาได้สื่อถึงสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนหรือเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรงไม่ เครื่องหมายการค้าคำว่า “59FIFTY” จึงมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าของโจทก์ทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างไปจากสินค้าอื่น จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ อันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/2195 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 349/2555 ซึ่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “59FIFTY” ตามคำขอเลขที่ 740848 ของโจทก์ กับให้จำเลยและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “59FIFTY” ตามคำขอเลขที่ 740848 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/2195 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า 349/2555 ที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “59FIFTY” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 740848 ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติฟังได้ว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “59FIFTY” ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน โดยให้เหตุผลว่า ตัวเลขและคำว่า “59FIFTY” เป็นคำสามัญทั่ว ๆ ไป ไม่มีการประดิษฐ์ในลักษณะพิเศษ จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยให้เหตุผลว่าเลขอารบิค 59 เป็นตัวเลขอารบิคธรรมดาที่ไม่ได้ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษ ถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (3) ส่วนคำว่า FIFTY แปลว่า ห้าสิบ เลขห้าสิบ เป็นคำสามัญทั่วไป ไม่มีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “59FIFTY” เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ เห็นว่า แม้เลขอารบิค 59 กับอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า FIFTY โจทก์นำมาขอจดทะเบียน จะเป็นตัวเลขและคำสามัญที่ใช้สื่อสารในการพูดและเขียนตามปกติทั่วไป แต่ในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “59FIFTY” ทำให้เห็นวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้ว่า โจทก์ขอจดทะเบียนเลขอารบิค 59 กับอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า FIFTY รวมกันเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 มิได้ขอจดทะเบียนเพื่อใช้เลขอารบิคและคำดังกล่าวแยกกัน ดังนั้น ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านี้มีคุณสมบัติอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 7 วรรคสอง (3) หรือไม่ จึงต้องพิจารณาทั้ง 2 ส่วนรวมกัน ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 7 วรรคสอง (3) เพียงแสดงให้เห็นว่า ถ้าเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ขอจดทะเบียนเป็นตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น ก็ให้ถือเป็นเด็ดขาดว่าเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ มิได้หมายความว่า ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่มิได้ประดิษฐ์ขึ้นแต่มีลักษณะการนำเสนอและการใช้ร่วมกันในลักษณะเช่นนี้จะไม่สามารถมีลักษณะบ่งเฉพาะได้ในทุกกรณี ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้ง 2 ส่วนรวมกันก็หาได้สื่อถึงสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนหรือเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรงไม่ เครื่องหมายการค้าคำว่า “59FIFTY” จึงมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าของโจทก์ทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างไปจากสินค้าอื่น จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ อันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share