คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5707/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่าย เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้ารองเท้ากีฬาที่มีตราเครื่องหมายการค้าอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร อีกทั้งโจทก์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109, 110, 115, 117 ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษการกระทำผิดของจำเลยฐานจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) แต่เหตุที่การปรับบทลงโทษต้องนำมาตรา 109 มาประกอบด้วยเนื่องจากองค์ประกอบของมาตรา 110 (1) เป็นการจำหน่าย เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 108 หรือจำหน่าย เสนอจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 ซึ่งมีลักษณะเป็นการนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นไปหาประโยชน์อันเป็นการส่งเสริมให้สินค้าดังกล่าวแพร่หลายหรือกระจายไปสู่ประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 ว่า บุคคลใด (1) เข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 …” องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 110 (1) จึงแตกต่างจากความผิดตามมาตรา 109 ซึ่งผู้เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่ตนเลียนนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นด้วย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ผู้กระทำเพียงมีเจตนาธรรมดา คือ รู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ก็เป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) แล้วโดยไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษว่าเพื่อทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นอีก คดีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบตามมาตรา 110 (1) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109, 110, 115, 117 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง คืนของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดฐานจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 หรือไม่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ความผิดฐานจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 จะต้องมีองค์ประกอบความผิดว่า สินค้าที่เสนอจำหน่ายนั้นต้องเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วในราชอาณาจักร และการเลียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 109 จะต้องมีองค์ประกอบที่เป็นเจตนาพิเศษ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น คำฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 มิได้มีองค์ประกอบความผิดว่า เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้ารองเท้ากีฬาที่มีตราเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ย่อมครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) แล้วนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่าย เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้ารองเท้ากีฬาที่มีตราเครื่องหมายการค้าอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร อีกทั้งโจทก์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109, 110, 115, 117 ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษการกระทำผิดของจำเลยฐานจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) แต่เหตุที่การปรับบทลงโทษต้องนำมาตรา 109 มาประกอบด้วยเนื่องจากองค์ประกอบของมาตรา 110 (1) เป็นการจำหน่าย เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 108 หรือจำหน่าย เสนอจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 ซึ่งมีลักษณะเป็นการนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นไปหาประโยชน์อันเป็นการส่งเสริมให้สินค้าดังกล่าวแพร่หลายหรือกระจายไปสู่ประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 ว่า บุคคลใด (1) เข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 …” องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 110 (1) จึงแตกต่างจากความผิดตามมาตรา 109 ซึ่งผู้เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่ตนเลียนนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นด้วย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ผู้กระทำเพียงมีเจตนาธรรมดา คือ รู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ก็เป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) แล้วโดยไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษว่าเพื่อทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นอีก คดีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบตามมาตรา 110 (1) แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง

Share