คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองมิได้ให้การโต้แย้งถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับแล้วว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ดังนั้น กรณีจึงถือว่าสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาและผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั่นคือ การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ด้วยเหตุนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เข้าผูกพันตนตามสัญญากับโจทก์ยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นของบุตรทั้งสองเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยจำเลยที่ 1 จะไม่โอนขายบ้านและที่ดินดังกล่าวเด็ดขาดแม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกคือ บุตรทั้งสอง และบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในสัญญายังมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นเพราะยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะตามเงื่อนไขในสัญญาก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจะย้อนมาอ้างสิทธิว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสหรือไม่อย่างไรไม่ได้ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ตามที่มีอยู่เดิมเหนือที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้แต่สิทธิและพันธะหน้าที่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายบ้านเลขที่ 101 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 26051 อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และโฉนดเลขที่ 28345 กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนให้บ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวเป็นของเด็กชาย ว. และเด็กชาย ช. หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,030,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,030,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26051 อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และโฉนดเลขที่ 28345 กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมบ้านเลขที่ 101 อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ตามสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ระหว่างจำเลยทั้งสอง เฉพาะสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 101 ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หนึ่งในสองส่วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในส่วนที่ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ระหว่างจำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 5,000 บาท ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระไว้เกินแก่โจทก์ 10,400 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์เคยเป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชาย ว. และเด็กชาย ช. หลังจากจดทะเบียนหย่ากันแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ในข้อ 3 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงยกบ้านเลขที่ 101 อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมที่ดินที่ปลูกบ้านดังกล่าว ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 ให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเมื่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยจำเลยที่ 1 จะไม่จำหน่ายบ้านและที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า กรณีมีเหตุเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองมิได้ให้การโต้แย้งถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (3) ดังนั้นกรณีจึงถือว่าสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญา และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 นั่นคือการเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ด้วยเหตุนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เข้าผูกพันตนทำสัญญากับโจทก์ ยอมยกที่ดินพิพาทตามโฉนดทั้งสองแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ตกเป็นของเด็กชาย ว. และเด็กชาย ช. เมื่อเด็กชายทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยจำเลยที่ 1 จะไม่โอนขายบ้านและที่ดินดังกล่าวเด็ดขาด แม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือเด็กชาย ว. และเด็กชาย ช. และบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในสัญญายังมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือ เอาประโยชน์จากสัญญานั้นเพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะตามเงื่อนไขในสัญญาก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จะย้อนมาอ้างสิทธิว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสหรือไม่อย่างไรไม่ได้ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ตามที่มีอยู่เดิมเหนือที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้แต่สิทธิ และพันธะหน้าที่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ไปดำเนินการโอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ในฐานะคู่สัญญาจึงฟ้องบังคับเอากับจำเลยที่ 1 ได้ตามสัญญา และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 อาศัยอยู่ที่บ้านและที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 2 มีบ้านอยู่ถัดไปอีกเพียงไม่กี่หลัง จึงเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทั้งได้ความตามคำเบิกความของเด็กชาย ว. ว่า รู้จักจำเลยที่ 2 เพราะมีบ้านห่างจากบ้านและที่ดินพิพาทประมาณ 3 ถึง 4 หลัง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 คบกันในลักษณะสามีภริยา และเด็กชาย ช. เบิกความว่า รู้จักจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 อาศัยอยู่ที่บ้านและที่ดินพิพาทเคยรับเด็กชาย ว. ไปพักอาศัย และนอนในห้องเดียวกับจำเลยทั้งสองด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า หลังโจทก์หย่าจากจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองคบหากันแบบชู้สาว มีการนอนค้างคืนด้วยกัน ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ในปี 2549 จำเลยที่ 2 รู้จักกับนาย ค. จึงได้สมรสด้วยการจดทะเบียน ต่อมาจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยนาย ค. สามียินยอมนั้น โจทก์มีนาง อ. เบิกความว่า พยานมีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวทราบเหตุที่จำเลยที่ 2 จะซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยมีญาติของจำเลยที่ 2 เตือนจำเลยที่ 2 ว่าอย่าซื้อ เพราะจำเลยที่ 1 ยกให้บุตรทั้งสองแล้ว เมื่อประมวลเข้ากับข้อเท็จจริงซึ่งรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษในเชิงชู้สาวมาก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีสามี เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับรู้เรื่องที่จำเลยที่ 1 ยกบ้านให้แก่บุตรของจำเลยที่ 1 แล้ว ดังที่มีญาติของจำเลยที่ 2 เคยกล่าวตักเตือน แต่ก็ยังเข้ารับซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ กรณีจึงมีเหตุเพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26051 อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และโฉนดเลขที่ 28345 กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่เด็กชาย ว. และ เด็กชาย ช. เมื่อบุตรทั้งสองบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share