คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8589/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่า จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กับมีคำขอท้ายคำฟ้อง ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 และขอให้ระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แสดงว่าโจทก์ระบุสถานะจำเลยว่าเป็นบุคคลตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 และขอให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวด้วย หาใช่ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ซึ่งการที่ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 ต้องได้ความว่าเป็นกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีสถานะถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นกัน แต่เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งแยกต่างจากกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ไว้ จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวได้ เพราะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 3
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ถือเป็นข้อยกเว้นของวรรคหนึ่ง จึงต้องตีความวรรคห้าโดยเคร่งครัด เมื่อวรรคห้าระบุว่าเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด จะตีความขยายไปถึงกรณีที่อ้างกฎหมายผิดทั้งฉบับหาได้ไม่ เพราะถ้ากฎหมายต้องการเช่นนั้นก็คงระบุไว้ว่า โจทก์อ้างบทกฎหมายผิด ซึ่งย่อมครอบคลุมตลอดถึงการอ้างความผิดหรือบทมาตราผิดอยู่ในตัวด้วย ที่โจทก์อ้างว่าคดีนี้อ้างบทมาตราผิดและศาลสามารถลงโทษจำเลยตามบทมาตราของกฎหมายที่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า จึงไม่ถูกต้อง ดังนั้น ศาลจะลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ไม่ได้ เพราะขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 76/1, 100, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และขอให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคสอง, 76/1 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุก 15 ปี และปรับ 1,500,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 โดยไม่ยกพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ขึ้นปรับบทวินิจฉัยนั้น ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าขณะกระทำความผิด จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตามที่บรรยายในฟ้องนั้นโจทก์สืบสม รวมทั้งได้มีคำขอท้ายคำฟ้อง ขอให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นแล้ว หาใช่โจทก์มิได้กล่าวอ้างสถานะของจำเลยและบทมาตรามาในฟ้อง หรือเป็นกรณีต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ไม่ เพียงแต่โจทก์อ้างบทมาตราผิด และศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทมาตราของกฎหมายที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ได้ หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ ซึ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กับมีคำขอท้ายคำฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 และขอศาลสั่งให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ดังนี้แสดงว่า โจทก์ระบุสถานะของจำเลยว่าเป็นบุคคลตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 กับขอให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวด้วย หาใช่ขอให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ซึ่งเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 บัญญัติว่า “กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” การที่จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จึงหาใช่บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าวไม่ แต่การที่จำเลยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีสถานะถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ซึ่งต้องวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นกัน อันเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งแยกต่างหากจากกัน หากโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ดังกล่าวก็ต้องระบุสถานะของจำเลย และมีคำขอให้ลงโทษตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นเอาไว้ในคำฟ้องโดยชัดแจ้ง แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายสถานะของจำเลยว่าเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ทั้งไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ไว้แต่อย่างใด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์อ้างบทมาตราผิด และศาลสามารถลงโทษจำเลยตามบทมาตราของกฎหมายที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า นั้น ความในวรรคห้าดังกล่าวถือเป็นข้อยกเว้นของวรรคแรก ฉะนั้น จึงต้องตีความวรรคห้าโดยเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นเหตุทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้น โดยในวรรคห้าระบุว่า เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เมื่อกฎหมายระบุถึงฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ก็ต้องเป็นกรณีที่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอย่างแท้จริง จะตีความขยายไปถึงกรณีที่อ้างกฎหมายผิดทั้งฉบับหาได้ไม่ เพราะถ้ากฎหมายต้องการเช่นนั้น ก็คงระบุไว้เสียเลยว่า โจทก์อ้างบทกฎหมายผิด ซึ่งย่อมครอบคลุมตลอดถึงการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอยู่ในตัวด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่เป็นเพียงอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ศาลจะลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 มิได้ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share