คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3320/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ฎีกาต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อ หรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กล่าวคือ ฎีกาจะต้องมีข้อคัดค้านหรือโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ว่า ไม่ถูกต้องในข้อไหนอย่างใด หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด ทั้งนี้ ไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ตนประสงค์จะยกขึ้นฎีกา เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ล้วนเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นทั้งสิ้น โดยคัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์ ของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด เพียงเพิ่มตอนท้ายว่า บรรดาของกลางที่พบในที่เกิดเหตุไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยถึงปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยข้อเท็จจริงข้อใด ตอนใดไม่ถูกต้องอย่างไร และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพราะเหตุใด แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำขอท้ายฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาได้โปรดพิจารณาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสีย ก็ไม่อาจถือเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง
ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ ฯ มาตรา 3 นิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ไว้ว่า หมายถึง เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้ความหมายรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง ตามคำนิยามจากบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์”มิใช่เป็นการกำหนดความหมายถึงเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ฯ ไว้โดยลำพัง แต่ได้ระบุโยงไปถึงกฎกระทรวงด้วย และโดยอาศัยอำนาจตามความในบทนิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ฯ ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎกระทรวงไว้ว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 เมื่อเหตุคดีนี้เกิดวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นภายหลังจากวันที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องมาให้ครบถ้วนว่า เลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองนั้นเป็นไปตามคำนิยามในกฎกระทรวงด้วย เพราะถือว่ากำลังแรงม้า และขนาดความยาวของแผ่นบังคับโซ่เป็นข้อสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเป็นเครื่องมือที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดยาวเกินกว่า 12 นิ้ว ตามลักษณะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง จึงเป็นฟ้องที่ไม่มีรายละเอียดพอสมควร ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ไม่สามารถลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 14, 31 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4, 17, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 138, 289 ริบไม้พะยูง และของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69, (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) 73 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 73 วรรคสอง (2)) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 55, 72 วรรคสาม, 78 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 289 (2) (3) ประกอบมาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี สำหรับความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานร่วมกันตัด โค่น ทำลายต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปจำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 10 เดือน ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 10 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันมี อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานและต่อสู้หรือขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยมีอาวุธปืน และความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตสถานเดียว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ริบไม้พะยูง เลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์โซ่ อาวุธปืนแก๊ป อาวุธปืนคาร์ไบน์พร้อมซองกระสุน มีดปลายแหลม ตลับเมตร ไฟฉายติดศีรษะและแกลลอนน้ำมันของกลาง ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายสี่คนเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงภูสีฐาน บริเวณภูบักเว ตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติและเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ร่วมกันตัดต้นพะยูงและแปรรูปไม้ นายธวัชชัย ผู้เสียหายที่ 1 เป็นพนักงานราชการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่าไม้ มีหน้าที่ออกตรวจพื้นที่และทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ นายสีเทียม ผู้เสียหายที่ 2 และนายเอกชัย ผู้เสียหายที่ 3 เป็นลูกจ้างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน มีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการจับกุมปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ผู้เสียหายทั้งสามกับพวกเข้าจับกุม แต่คนร้ายต่อสู้ขัดขวางและใช้มีดเป็นอาวุธฟัน แทง ผู้เสียหายทั้งสาม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานออกไปตรวจที่เกิดเหตุ และยึดไม้พะยูงแปรรูป 7 แผ่น/เหลี่ยมไม้พะยูงที่ยังไม่ได้แปรรูป 1 ท่อน เลื่อนโซ่ยนต์พร้อมบาร์โซ่ 1 เครื่อง โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ตลับเมตร 2 อัน ไฟฉายติดศีรษะ 3 ชุด แกลลอนน้ำมัน 2 ใบ อาวุธปืนคาร์ไบน์ 1 กระบอก มีดปลายแหลม 1. เล่ม เป็นของกลาง ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ตามหมายจับของศาลชั้นต้น ขณะนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมุกดาหาร ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ว่า ร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ร่วมกันมีอาวุธปืนและอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ พยายามฆ่าเจ้าพนักงานและผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันตัด โค่น ทำลาย ต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน และยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟัง ไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานต่าง ๆ ดังกล่าว เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานและต่อสู้หรือขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย และโดยมีอาวุธปืน และความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดนั้น เห็นว่า ฎีกาต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อ หรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กล่าวคือ ฎีกาจะต้องมีข้อคัดค้านหรือโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า ไม่ถูกต้องในข้อไหนอย่างใด หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด ทั้งนี้ ไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ตนประสงค์จะยกขึ้นฎีกา เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาฎีกาของจำเลยที่ 1 โดยละเอียดแล้ว ล้วนเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นทั้งสิ้น โดยคัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด เพียงเพิ่มตอนท้ายว่า บรรดาของกลางที่พบในที่เกิดเหตุไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยถึงปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยข้อเท็จจริงข้อใด ตอนใดไม่ถูกต้องอย่างไร และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพราะเหตุใด แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำขอท้ายฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาได้โปรดพิจารณาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสีย ก็ไม่อาจถือเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไปได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับข้อหาร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ ฯ มาตรา 3 นิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ไว้ว่า หมายถึง เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้ความหมายรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง เช่นนี้แสดงว่าตามคำนิยามจากบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์”มิใช่เป็นการกำหนดความหมายถึงเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ฯ ไว้โดยลำพัง แต่ได้ระบุโยงไปถึงกฎกระทรวงด้วย และโดยอาศัยอำนาจตามความในบทนิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์”ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ฯ ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎกระทรวงไว้ว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 เมื่อเหตุคดีนี้เกิดวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นภายหลังจากวันที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องมาให้ครบถ้วนว่า เลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองนั้นเป็นไปตามคำนิยามในกฎกระทรวงด้วย เพราะถือว่ากำลังแรงม้าและขนาดความยาวของแผ่นบังคับโซ่เป็นข้อสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเป็นเครื่องมือที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดยาวเกินกว่า 12 นิ้ว ตามลักษณะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง จึงเป็นฟ้องที่ไม่มีรายละเอียดพอสมควร ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่สามารถลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตสถานเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share