แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้รับโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียในการบังคับคดี การที่ทนายความผู้ร้องนำสำเนาคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์พร้อมหมายนัดไปส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดย ณ. เจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งในหมายนัดว่า ทราบ รวม และรอฟังคำสั่งศาล แสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้วว่าผู้ร้องได้ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ แม้จะไม่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาด แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับในวันขายทอดตลาด มีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวและเสนอซื้อในราคา 1,620,000 บาท ต่ำกว่าราคาประเมินของ เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ประเมินไว้ในราคา 3,240,000 บาท และต่ำกว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนมาก เจ้าพนักงานบังคับคดีควรที่จะถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 เพื่อรอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ก่อนจึงดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับขายทอดตลาดในวันรุ่งขึ้นโดยไม่รอฟังคำสั่งศาล เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีและต้องคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ให้ต้องเสียหายโดยต้องไม่ขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร จนลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับภาระหนักขึ้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดในราคา 1,620,000 บาท โดยมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว แม้จะไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองในราคาที่ต่ำเกินสมควรโดยไม่ให้โอกาสผู้ร้องซึ่งเล็งเห็นได้ว่าจะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้ามารักษาประโยชน์ของตน และเห็นได้ว่าต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 และ ป.วิ.พ. มาตรา 308 เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงิน 5,581,000.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,829,118.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 84259 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อ ได้ในราคา 1,620,000 บาท
ระหว่างบังคับคดี บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 84259 ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 งาน 22 ตารางวา พร้อมบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ในโครงการฮันนี่วิลล่าซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 20,000 บาท ราคาบ้าน 800,000 บาท รวม 3,240,000 บาท วันที่ 8 พฤษภาคม 2545 ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อได้ในราคา 1,620,000 บาท วันที่ 10 มีนาคม 2546 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด อ้างว่าเพิ่งทราบว่ามีการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2546
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ประการแรกว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอน การขายทอดตลาดเกิน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสาม ประกอบมาตรา 296 วรรคสาม หรือไม่ นายสมคิด ทนายความของผู้ร้องและนายพิพัฒน์ พนักงานของผู้ร้องเบิกความว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2546 ได้นำสำเนาคำสั่งศาลที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ไปแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อตรวจสอบการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองของจำเลย เนื่องจากทนายความคนเดิมไม่ได้รายงาน จึงทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2545 จึงต้องถือว่าผู้ร้องทราบเรื่องการขายทอดตลาด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2546 ที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่า นายประคิ่น ผู้แทนโจทก์และเป็นทนายความของผู้ร้องทราบว่ามีการขายทอดตลาดในวันที่ 8 พฤษภาคม 2545 แต่ไม่ดำเนินการประการใดนั้น นายประคิ่นเบิกความว่า นายประคิ่นได้นำหมายนัดและสำเนาคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ไปส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 นายประคิ่นได้ถามเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าต้องยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดเพื่อรอฟังคำสั่งศาลเรื่องขอเข้าสวมสิทธิหรือไม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าไม่ต้องยื่นคำร้อง เนื่องจากได้สั่งไว้ในหมายนัดว่ารอฟังคำสั่งศาลแล้ว จะไม่มีการขายทอดตลาด หลังจากนั้นนายประคิ่นย้ายไปอยู่ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้ผู้ซื้อทรัพย์จะมีนายณัฐวุฒิ เจ้าพนักงานบังคับคดีเบิกความว่าไม่ได้แจ้งแก่นายประคิ่นว่าไม่ต้องยื่นคำร้องของดการขายทอดตลาด แต่การที่นายณัฐวุฒิสั่งในหมายนัดว่า ทราบ รวม และรอฟังคำสั่งศาล จึงน่าเชื่อว่านายประคิ่นเข้าใจว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องรอหรืองดการขายทอดตลาดไว้เพื่อรอฟังคำสั่งศาลก่อน ทั้งนายประคิ่นเป็นทนายความของผู้ร้องหากทราบว่าจะมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองซึ่งเป็นหลักประกันเพียงอย่างเดียวในวันรุ่งขึ้น ย่อมต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้งดการขายทอดตลาด พฤติการณ์ตามที่ผู้ร้องและผู้ซื้อทรัพย์นำสืบน่าเชื่อว่านายประคิ่นและผู้ร้องไม่ทราบว่ามีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองในวันที่ 8 พฤษภาคม 2545 ส่วนที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่านายประคิ่นได้ขอคัดสำเนาเอกสารในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ต้องทราบว่ามีการขายทอดตลาดนั้น นายณัฐวุฒิเบิกความว่า ยังไม่ได้รายงานเรื่องการขายทอดตลาดให้ศาลทราบ นายประคิ่นจึงไม่อาจทราบว่ามีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ประการสุดท้ายว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้รับโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียในการบังคับคดี การที่ทนายความผู้ร้องนำสำเนาคำร้องขอเข้าสวมสิทธิ เป็นคู่ความแทนโจทก์พร้อมหมายนัดไปส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยนายณัฐวุฒิเจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งในหมายนัดว่า ทราบ รวม และรอฟังคำสั่งศาล แสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้วว่าผู้ร้องได้ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ แม้จะไม่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาด แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับที่นายณัฐวุฒิเบิกความว่า ในวันขายทอดตลาด มีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวและเสนอซื้อในราคา 1,620,000 บาท ต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ประเมินไว้ในราคา 3,240,000 บาท และต่ำกว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนมาก เจ้าพนักงานบังคับคดีควรที่จะถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 เพื่อรอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ก่อนจึงดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับขายทอดตลาดในวันรุ่งขึ้นโดยไม่รอฟังคำสั่งศาล เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีและต้องคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ให้ต้องเสียหายโดยต้องไม่ขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร จนลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับภาระหนักขึ้น จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา 5,581,000.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,829,118.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยมีทรัพย์สินที่จำนองเพียงรายการเดียว เป็นที่ดินมีเนื้อที่ถึง 1 งาน 22 ตารางวา พร้อมบ้านเดี่ยวสองชั้น ตั้งอยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินซึ่งมีระบบสาธารณูปโภค และอยู่ในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทำเลที่ดี เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 20,000 บาท รวมราคาที่ดิน 2,440,000 บาท และประเมินราคาบ้านเดี่ยวสองชั้น 800,000 บาท การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดในราคา 1,620,000 บาท โดยมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว แม้จะไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองในราคาที่ต่ำเกินสมควรโดยไม่ให้โอกาสผู้ร้องซึ่งเล็งเห็นได้ว่าจะเข้าสวมสิทธิ เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้ามารักษาประโยชน์ของตน และเห็นได้ว่าต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ