คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่… (1) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์” เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ดังนั้นจะนำประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้าง พ.ศ.2551 อันเป็นการจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันกรณีทั่วไปมาใช้บังคับแก่การค้ำประกันกรณีลูกจ้างเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่ ณ. ก่อให้เกิดขึ้นตามสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,062,926.46 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 837,116.13 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 788,346 บาท และค่าทนายความแก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสี่แถลงขอสละประเด็นข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมดและจำเลยที่ 2 แถลงสละประเด็นตามฟ้องแย้งไม่ติดใจประเด็นตามฟ้องแย้งอีกต่อไป
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 837,116.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 กันยายน 2556) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับจากกองมรดกของนายณรงค์ ผู้ตาย และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานไม่เกิน 42,830 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า นายณรงค์ เป็นพนักงานของโจทก์ ปฏิบัติงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครังสิต จังหวัดปทุมธานี วันที่ 21 กันยายน 2555 นายณรงค์ได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวายฉับพลัน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2545 ถึงเดือนตุลาคม 2545 นายณรงค์ได้ปฏิบัติผิดระเบียบคำสั่งของโจทก์และบกพร่องต่อหน้าที่ทุจริตต่อหน้าที่การงานและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 นายณรงค์ทำหนังสือรับสภาพหนี้และขอผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 920,550 บาท ผ่อนชำระแล้วเป็นเงิน 153,000 บาท คงเหลือ 767,550 บาท ต่อมานายณรงค์ได้กระทำผิดขึ้นอีกโดยรับจ้างงานขยายเขตระบบจำหน่ายแรงสูงภายในและติดตั้งหม้อแปลงให้แก่อู่ซ่อมรถของนางสายใจ และหอพักของนายจิราวัฒน์ และรับเงินค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วไม่นำเข้าบัญชีเป็นเงิน 69,566.13 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายณรงค์ต้องร่วมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันการเข้าทำงานของนายณรงค์ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาค้ำประกัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสี่ได้ตั้งแต่วันใด กรณีตามสัญญารับสภาพหนี้และผ่อนชำระค่าเสียหาย 920,550 บาท ซึ่งยังคงเหลือยอดหนี้ค้างชำระ 767,550 บาท ตามสัญญาดังกล่าว ข้อ 2 ระบุว่านายณรงค์ขอผ่อนชำระเงินดังกล่าวในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินเดือน โดยยอมให้โจทก์หักจากเงินเดือนงวดเดือนสิงหาคม 2548 เป็นต้นไป แต่นับจากเดือนพฤศจิกายน 2552 นายณรงค์ก็ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นวันหักเงินดังกล่าวจากเงินเดือนของนายณรงค์เป็นต้นไป ส่วนกรณีหนี้ตามความเสียหายอีกรายการที่นายณรงค์กระทำละเมิดต่อโจทก์ 69,566.13 บาท ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่นายณรงค์กระทำละเมิดคือวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 แต่เมื่อโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 29 มกราคม 2556 จึงเห็นควรกำหนดให้ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 กันยายน 2556) ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า ศาลแรงงานกลางให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของนายณรงค์ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่นายณรงค์ได้รับตามประกาศกระทรวงแรงงานนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (2) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสมพันธ์” ดังนั้นจะนำประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้าง พ.ศ.2551 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นการจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันในกรณีทั่วไปมาใช้บังคับแก่การค้ำประกันกรณีลูกจ้างเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหาได้ไม่ เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ประกาศกระทรวงแรงงานดังกล่าวข้างต้นจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่นายณรงค์ก่อให้เกิดขึ้นตามสัญญาค้ำประกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับผิดไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 837,116.13 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 767,550 บาท นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 13 กันยายน 2556) ต้องไม่เกิน 222,536.92 บาท และของต้นเงิน 69,566.13 บาท นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2556 ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,273.41 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share