แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ดอกเบี้ยจากค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามวินิจฉัยข้างต้นว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดค่าเสียหายจากจำเลยนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำละเมิด โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ขอมา ส่วนที่โจทก์ขอค่าเสียหายรายเดือนหลังวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากทรัพย์พิพาทนั้น ค่าเสียหายรายเดือนภายหลังวันฟ้อง โจทก์ทั้งสองมีคำขอในลักษณะค่าเสียหายในอนาคต จึงมิใช่หนี้เงินผิดนัดที่โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยชำระค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 สิงหาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นโชว์รูมรถยนต์และโกดังเก็บของ โดยซื้อจากการขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.696/2547 ของศาลล้มละลายกลาง โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อของโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 แต่โจทก์ทั้งสองไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เนื่องจากจำเลยครอบครองทำประโยชน์จนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 จำเลยจึงออกจากที่ดินพิพาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า จำเลยกระทำละเมิดโจทก์ทั้งสองนับแต่วันใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยโดยจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้ว่า สัญญาเช่าและสัญญาเช่าช่วงเป็นเอกสารเท็จที่จำเลยและนายสมมาตร ร่วมกันจัดทำเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีจำเลย จึงรับฟังได้ว่าจำเลยอยู่ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยไม่มีสิทธิอยู่อาศัยและใช้สอยทรัพย์พิพาท โจทก์ทั้งสองมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งสองและเสนอให้จำเลยเช่าเพื่อให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและใช้สอยทรัพย์พิพาทได้ต่อไป แต่จำเลยไม่รับเงื่อนไขการเสนอให้เช่าของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ยอมออกจากทรัพย์พิพาท เป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายจึงเป็นการทำละเมิดโจทก์ทั้งสองนับแต่วันดังกล่าว หาใช่เป็นการทำละเมิดโจทก์ทั้งสองนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากโจทก์ทั้งสองให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากทรัพย์พิพาทดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดค่าเสียหายจากจำเลยนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้รับหนังสือเสนอให้จำเลยเช่าทรัพย์พิพาทไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2554 อันเป็นวันที่จำเลยออกจากทรัพย์พิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้คิดค่าเสียหายนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากทรัพย์พิพาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการต่อไปมีว่า สมควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสองได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากละเมิดเพียงใด เห็นว่า หนังสือที่โจทก์ทั้งสองเสนอให้จำเลยเช่านั้น แจ้งแต่เพียงให้จำเลยแจ้งความประสงค์เช่าต่อโจทก์ทั้งสอง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองเสนอคิดค่าเช่าจากจำเลยในอัตราใด ทางนำสืบเกี่ยวกับค่าเช่าเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยเจรจากัน ภายหลังจากโจทก์ทั้งสองมีหนังสือแล้ว ตกลงกันไม่ได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองเสนอเรียกค่าเช่าจากจำเลยในอัตราใด แต่กลับปรากฏตามหนังสือที่จำเลยมีถึงโจทก์ทั้งสองแจ้งยืนยันขอใช้สิทธิตามสัญญาเช่าเดิม ที่จำเลยอ้างว่าทำสัญญาเช่าช่วงจากนายสมมาตร และมีการเท้าความถึงการเจรจาค่าเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลย ก่อนที่จำเลยจะแจ้งเสนอขอเช่าในอัตราเดือนละ 50,000 บาท ตามสิทธิในสัญญาเช่าช่วงเดิมว่า โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าใหม่คิดค่าเช่าเพิ่มเป็นเดือนละ 200,000 บาท ซึ่งโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบหรือซักค้านปฏิเสธการเสนอค่าเช่าจำนวนดังกล่าว ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองเสนอเงื่อนไขการเช่าทรัพย์พิพาทต่อจำเลยในอัตราเดือนละ 200,000 บาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่าเดือนละ 250,000 บาท จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากค่าเสียหายนับแต่วันทำละเมิดถึงวันที่จำเลยออกจากทรัพย์พิพาทหรือไม่ เห็นว่า ดอกเบี้ยจากค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามวินิจฉัยข้างต้นว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดค่าเสียหายจากจำเลยนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำละเมิด โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ขอมา ส่วนที่โจทก์ขอค่าเสียหายรายเดือนหลังวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากทรัพย์พิพาทนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ค่าเสียหายรายเดือนภายหลังวันฟ้อง โจทก์ทั้งสองมีคำขอในลักษณะค่าเสียหายในอนาคตจึงมิใช่หนี้เงินที่โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายนับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2551 คำนวณถึงวันฟ้องจำนวนหนึ่งและค่าเสียหายรายเดือนในอนาคตอีกจำนวนหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินโดยรวมค่าเสียหายจำนวนก่อนวันฟ้องและหลังวันฟ้องรวมเป็นจำนวน 7,500,000 บาท หักเงินที่จำเลยนำไปวางชำระหนี้ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครปฐมจำนวน 1,450,000 บาท แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 6,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองนั้นเป็นการพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้เกินไปกว่าคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง เห็นว่า ค่าเสียหายนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 อันเป็นวันทำละเมิด คำนวณถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันฟ้อง เป็นเงิน 1,870,968 บาท หักเงินที่จำเลยนำไปวางชำระหนี้ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครปฐม จำนวน 1,450,000 บาท แล้ว คงเหลือยอดหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 420,968 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 420,968 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยชำระค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 250,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 สิงหาคม 2552) ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2554 อันเป็นวันที่จำเลยออกจากทรัพย์พิพาท คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ