คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4015/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นายจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยพนักงานตรวจแรงงานที่มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยร่วมลูกจ้าง เพราะจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยและจำเลยร่วมให้การว่าหนังสือเตือนฉบับที่ 1 ไม่เป็นความจริง โดยระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2557 โจทก์มอบหมายงานที่ไม่ให้เวลาแก่จำเลยร่วมพอสมควร เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้แก่จำเลยร่วมให้ทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2556 แต่ในระหว่างนั้นในวันที่ 7 และวันที่ 9 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้แก่จำเลยร่วมทำอีก 2 งาน รวมเป็น 4 งาน ดังนั้น การที่จำเลยใช้ดุลพินิจว่าการมอบหมายงานดังกล่าวแก่จำเลยร่วมไม่เป็นธรรมชอบแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางได้ให้เหตุผลและวินิจฉัยแล้ว แม้ศาลแรงงานกลางจะไม่ได้หยิบยกบทกฎหมายขึ้นอ้างในคำวินิจฉัยให้ชัดเจน และการให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยจะรวบรัดไปบ้าง แต่คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวก็ได้กล่าว หรือแสดงถึงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและมีคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว
หนังสือเตือนฉบับที่ 1 มีข้อความระบุว่า จำเลยร่วมกระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการกระทำผิดครั้งหลังก็เป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน แต่เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าคำสั่งมอบหมายงานของโจทก์ตามเอกสารมอบหมายงานให้จำเลยร่วมทำ ที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือเตือนฉบับที่ 1 เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การที่จำเลยร่วมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่อาจนำมาเป็นเหตุในการลงโทษทางวินัยแก่จำเลยร่วมได้ การที่โจทก์นำหนังสือเตือนฉบับที่ 1 มาใช้เป็นเหตุเลิกจ้างโดยอ้างว่าจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือนกับหนังสือเตือนครั้งหลังจึงไม่อาจกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและคืนเงินวางศาลจำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกนายมิคาเอล ลูกจ้าง เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยร่วมทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2556 ตำแหน่งวิศวกรอาวุโส ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 50,000 บาท วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเนื่องจากกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยร่วมยื่นคำร้องต่อจำเลยวันที่ 23 มิถุนายน 2557 จำเลยสอบข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย 150,000 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 50,000 บาท ให้แก่จำเลยร่วม แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์อ้างเหตุเลิกจ้างจำเลยร่วมเนื่องจากกระทำผิดซ้ำคำเตือนเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 แต่จำเลยตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่าในเวลา 5 วัน โจทก์สั่งให้จำเลยร่วมทำงานจำนวน 4 งาน จำเลยร่วมก็ไม่ยอมรับว่ากระทำผิดตามหนังสือเตือน ซึ่งเมื่อพิจารณาเอกสารการมอบหมายงานแก่จำเลยร่วม ปรากฏข้อเท็จจริงว่า วันที่ 6 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้จำเลยร่วมทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2556 แต่ระหว่างวันที่ 7 ถึง 9 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้จำเลยร่วมทำอีก 2 งาน การที่จำเลยใช้ดุลพินิจว่าการมอบหมายงานดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว การที่จำเลยใช้ดุลพินิจสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่จำเลยร่วมถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรก โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางไม่ได้หยิบยกข้อกฎหมายใดแสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า การออกหนังสือเตือนครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายในบทใด มาตราใดมาเป็นหลักในการวินิจฉัย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานที่มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยร่วมผู้เป็นลูกจ้าง โดยโจทก์อ้างเหตุว่าไม่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าวให้แก่จำเลยร่วม เพราะจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือน โดยจำเลยและจำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกันว่า หนังสือเตือนฉบับที่ 1 ไม่เป็นความจริง ระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2557 โจทก์มอบหมายงานให้จำเลยร่วมทำถึง 4 งาน ซึ่งจำเลยร่วมลงมือปฏิบัติไปแล้ว 2 งาน การมอบหมายงานที่ไม่ให้เวลาแก่จำเลยร่วมพอสมควร เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม จำเลยร่วมไม่ได้กระทำความผิด คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดซ้ำคำเตือน และมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาคำพิพากษาศาลแรงงานกลางแล้ว ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมแล้ววินิจฉัยว่า ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้แก่จำเลยร่วมให้ทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2556 แต่ในระหว่างนั้นในวันที่ 7 และวันที่ 9 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้จำเลยร่วมทำอีก 2 งาน การที่จำเลยใช้ดุลพินิจว่าการมอบหมายงานดังกล่าวแก่จำเลยร่วมไม่เป็นธรรมจึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงานกลางได้ให้เหตุผลและวินิจฉัยแล้วว่า การออกคำสั่งของโจทก์ที่มอบหมายงานให้แก่จำเลยร่วมเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่อาจลงโทษทางวินัยโดยการออกหนังสือเตือนจำเลยร่วมโดยอ้างเหตุจากการออกคำสั่งที่ไม่ชอบของตนเองได้ แม้ศาลแรงงานกลางจะไม่ได้หยิบยกบทกฎหมายขึ้นอ้างในคำวินิจฉัยให้ชัดเจน และแม้การให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจะรวบรัดไปบ้าง แต่คำพิพากษาศาลแรงงานกลางดังกล่าวก็ได้กล่าวหรือแสดงถึงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และมีคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้าย โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า หนังสือเตือนฉบับที่ 1 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2556 มีข้อความระบุว่าจำเลยร่วมกระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการกระทำความผิดครั้งหลังในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ก็เป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน จึงถือว่าจำเลยร่วมฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยร่วมจึงไม่ชอบ นั้น เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเอกสารมอบหมายงานให้จำเลยร่วมทำ แล้ววินิจฉัยว่าคำสั่งมอบหมายงานของโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การที่จำเลยร่วมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่อาจนำมาเป็นเหตุในการลงโทษทางวินัยแก่จำเลยร่วมได้ การที่โจทก์นำหนังสือเตือนฉบับที่ 1 มาใช้เป็นเหตุเลิกจ้างโดยอ้างว่าจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือนกับหนังสือเตือนฉบับดังกล่าว จึงไม่อาจกระทำได้ จำเลยร่วมจึงไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือนดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางไม่เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน

Share