คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การบอกเลิกสัญญานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด แม้ตามสัญญาจ้างแรงงานจะระบุว่า ถ้าลูกจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ก็ตาม และนายจ้างจะอ้างว่าลูกจ้างยื่นหนังสือลาออกไม่ครบ 30 วัน นายจ้างจึงไม่อนุมัติให้ลาออกนั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของนายจ้างเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาได้ สัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 21 เมษายน 2558 ตามหนังสือขอลาออกของลูกจ้างและลูกจ้างไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้างอีกต่อไป การที่จำเลยอ้างอ้างว่าลูกจ้างขาดงานตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างนั้น ก็หามีผลตามกฎหมายไม่ เพราะสัญญาจ้างแรงงานได้สิ้นสุดลงไปก่อนหน้านั้นแล้วจึงไม่อาจมีการบอกเลิกสัญญาได้อีกตามข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนของนายจ้างและข้อบังคับของกองทุนจำเลยมีข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างถูกไล่ออกหรือถูกนายจ้างเลิกจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างลาออกด้วย ดังนั้นเมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างสิ้นสุดลงเพราะลูกจ้างลาออกมิใช่เป็นเพราะถูกไล่ออกหรือถูกเลิกจ้าง ย่อมไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบ เป็นเงิน 75,256.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบเป็นเงิน 75,256.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 สิงหาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทโคไชน่า เฟรท (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ระหว่างเป็นลูกจ้างโจทก์ส่งเงินสะสมให้จำเลย โจทก์มีหนังสือขอลาออกจากบริษัทนายจ้าง และได้รับเงินสมทบ (ที่ถูกเงินสะสม) จากจำเลยแล้ว 75,256.53 บาท ข้อบังคับของจำเลยและข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนของบริษัทนายจ้างแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์อ้างว่าพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างด้วยการลาออกและมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากจำเลย เมื่อโจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างด้วยการลาออก การลาออกของโจทก์มีผลในวันที่ 21 เมษายน 2558 ตามที่ปรากฏในเอกสารหาใช่เป็นกรณีที่โจทก์พ้นสภาพโดยบริษัทนายจ้างเลิกจ้างเพราะโจทก์มีความผิดเนื่องจากโจทก์ขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วัน แต่อย่างใดไม่ เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยระบุเงื่อนไขที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเฉพาะกรณีลูกจ้างถูกไล่ออกหรือนายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรงเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ว่าโจทก์ผิดสัญญาจ้างเนื่องจากไปทำงานกับบริษัทซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับบริษัทนายจ้างของโจทก์นั้น ถึงแม้จะเป็นไปตามที่จำเลยกล่าวอ้างก็เป็นเรื่องที่บริษัทนายจ้างจะต้องไปเรียกค่าเสียหายจากโจทก์เป็นอีกกรณีหนึ่ง หาได้เกี่ยวข้องกับการพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างโดยการลาออกของโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลย
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ลาออกโดยไม่ถูกต้องเนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานได้กำหนดไว้ว่า หากลูกจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญา ลูกจ้างต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่โจทก์แจ้งล่วงหน้าไม่ครบเวลาดังกล่าว บริษัทนายจ้างจึงไม่อนุมัติการลาออก ทำให้การลาออกของโจทก์ไม่มีผล และเมื่อโจทก์ไม่ได้เข้ามาทำงานตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558 จนถึงวันฟ้องโจทก์จึงขาดงานติดต่อกันเกินสามวันและเมื่อบริษัทนายจ้างใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์มีความผิดร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากจำเลย เห็นว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับบริษัทนายจ้างเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาซึ่งการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด แม้ตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 6 ระบุว่า ถ้าลูกจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญา ลูกจ้างต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน และจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกไม่ครบ 30 วัน บริษัทนายจ้างจึงไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกนั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของบริษัทนายจ้างเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ได้ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับบริษัทนายจ้างจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 21 เมษายน 2558 ตามหนังสือขอลาออกของโจทก์ และโจทก์ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานให้แก่บริษัทนายจ้างอีกต่อไป การที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่าโจทก์ขาดงานตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558 เป็นต้นไป ติดต่อกันเกิน 3 วัน บริษัทนายจ้างจึงพิจารณาเลิกจ้างโจทก์นั้น ก็หามีผลตามกฎหมายไม่ เพราะสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับบริษัทนายจ้างได้สิ้นสุดลงไปก่อนหน้านั้นแล้วจึงไม่อาจมีการบอกเลิกสัญญาได้อีก เมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับบริษัทนายจ้างสิ้นสุดลง ตามข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนของบริษัทนายจ้างภายใต้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลย ข้อ 6.3.2.1 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบแก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพนั้น กำหนดไว้ว่าสมาชิกที่พ้นจากการเป็นลูกจ้างด้วยเหตุถูกไล่ออกหรือนายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรง สมาชิกผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบอีก ทั้งตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 10.7.2 (2) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบนั้น กำหนดไว้ว่าสมาชิกที่พ้นจากการเป็นลูกจ้างด้วยเหตุถูกไล่ออกหรือนายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรงจะไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ เว้นแต่ข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนจะกำหนดสิทธิในการได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบในกรณีดังกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งตามข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนของบริษัทนายจ้างและข้อบังคับของกองทุนจำเลยดังกล่าวจะเข้ากรณีที่ยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกถูกไล่ออกหรือถูกนายจ้างเลิกจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างลาออกด้วย ดังนั้นเมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับบริษัทนายจ้างสิ้นสุดลงเพราะโจทก์มีหนังสือขอลาออก มิใช่เป็นเพราะโจทก์ถูกไล่ออกหรือถูกเลิกจ้าง ย่อมไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าหลังจากที่โจทก์ลาออกจากบริษัทนายจ้างแล้ว โจทก์ไปทำงานที่บริษัทจีทรี โกลจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันและเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยตรงกับบริษัทนายจ้างตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2558 อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัทนายจ้าง โดยบริษัทนายจ้างต้องไปว่ากล่าวเองกับโจทก์อีกส่วนหนึ่งต่างหากเมื่อโจทก์มิได้พ้นจากการเป็นลูกจ้างด้วยเหตุถูกบริษัทนายจ้างไล่ออกหรือเลิกจ้างตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การที่จำเลยไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share