คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีล้มละลาย บ. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับรายงานเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่ามีการฟ้องคดีล้มละลาย บ. แล้ว เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ดำเนินการฟ้อง บ. ภายในอายุความ แม้ปรากฏว่า บ. ไม่มีทรัพย์สินใดให้บังคับคดีในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในคดีล้มละลายมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยให้ลูกหนี้แสดงรายการหรือรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบสินทรัพย์ของ บ. ได้ จึงอาจทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีล้มละลาย บ. จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาให้ บ. ใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ บ. เป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แต่โจทก์กลับปล่อยระยะเวลาไว้นาน จึงมีมติให้ฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ คดีจะขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นหนี้อันต้องใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 442
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน

Share