แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 ห้ามมิให้จัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ณ สถานที่ตั้งตามใบอนุญาต แต่จำเลยกลับไปประกอบการที่อีกสถานที่หนึ่งยอมเป็นการจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวิดีทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง, 82
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 53, 82
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง, 82 ปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 75,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ประเภทเกม โดยมีชื่อร้านวีดิทัศน์เป็นภาษาไทยว่า ร้าน บีบี.คิว อินเตอร์เน็ต ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 45 หมู่ที่ 3 ตำบลหินโงม อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยมีเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการจำนวนไม่เกิน 20 ชุด ใบอนุญาตออกวันที่ 10 กันยายน 2557 และสิ้นอายุวันที่ 9 กันยายน 2562 ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องซึ่งอยู่ในระหว่างจำเลยได้รับใบอนุญาต จำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ด้วยการจัดสถานที่ให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ ณ บ้านเลขที่ 129/13 หมู่ที่ 13 ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ประเภทเกม ที่บ้านเลขที่ 45 หมู่ที่ 3 ตำบลหินโงม อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย แต่ไปประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาตที่บ้านเลขที่ 129/13 หมู่ที่ 13 ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย นั้น เป็นการจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ประเภทเกม ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง แล้ว ที่จำเลยไปประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่บ้านเลขที่ 129/13 หมู่ที่ 13 ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย จึงเป็นเพียงกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 57 ประกอบมาตรา 42 ซึ่งมีโทษทางปกครองตามมาตรา 69 เท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญาตามฟ้อง เห็นว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 57 บัญญัติให้นำความในมาตรา 39 มาตรา 41 และมาตรา 42 มาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยอนุโลม โดยมาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ที่จะขออนุญาตประกอบกิจการตามมาตรา 37 หรือมาตรา 38 ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (1) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ (2) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี (3) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (4) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา (5) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 37 หรือมาตรา 38 (6) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 37 หรือมาตรา 38 เว้นแต่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตและเวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี” มาตรา 41 บัญญัติว่า “ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 37 และมาตรา 38 ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ประกอบกิจการ” มาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือบกพร่องในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่อนายทะเบียนและยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบถึงกรณีดังกล่าว” และวรรคสองบัญญัติว่า “การขอใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” จากบทบัญญัติของมาตรา 39 ดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายมีจุดประสงค์ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นสำคัญด้วย และนอกจากกฎหมายจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์แล้ว มาตรา 53 วรรคสองและวรรคสาม ของพระราชบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตให้เป็นไปตามกฎกระทรวง และมาตรา 53 วรรคห้า บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน การออกกฎกระทรวงตามวรรคสามจะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอาคารหรือสถานที่ตั้งของร้านวีดิทัศน์ด้วยก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ให้สถานที่ประกอบกิจการเป็นสาระสำคัญในการขอใบอนุญาตเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งกรณีนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ พ.ศ.2552 กำหนดหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยกำหนดวิธีการ คุณสมบัติ ขอบเขตการขอใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตไว้ในหมวด 1 และหมวดที่ 2 อันเป็นการยืนยันว่าสถานที่ตั้งที่ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ก็เป็นสาระสำคัญของการพิจารณาออกใบอนุญาตด้วยโดยไม่ยิ่งหย่อนกว่าคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต ดังนั้นผู้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตแล้วจะต้องประกอบกิจการยังสถานที่ที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ผู้ได้รับใบอนุญาตหาก่อให้เกิดสิทธิในการนำใบอนุญาตไปใช้ประกอบกิจการยังสถานที่อื่นใดได้ตามอำเภอใจ ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เมื่อสถานประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์เป็นสาระสำคัญในการออกใบอนุญาต หากผู้ประกอบการใดประสงค์จะย้ายสถานประกอบการไปยังสถานที่แห่งใหม่ก็ต้องดำเนินขอรับใบอนุญาตฉบับใหม่จากนายทะเบียนเท่านั้น ส่วนบทบัญญัติมาตรา 57 ที่ให้นำความในมาตรา 41 และมาตรา 42 มาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยอนุโลม นั้น มาตรา 41 บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ประกอบกิจการ ส่วนมาตรา 42 ให้ผู้ประกอบการกรณีใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือบกพร่องในสาระสำคัญ เช่น เลขที่ลบเลือน ไม่ปรากฏชื่อผู้ขออนุญาต ชื่อร้านที่ประกอบกิจการ วันที่ได้รับอนุญาต หรือมีการพิมพ์ผิดพลาด ก็ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันเท่านั้น ส่วนกรณีของจำเลยก็มิใช่เป็นกรณีใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือบกพร่องในสาระสำคัญ ตามความในมาตรา 42 ตามที่มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่จำเลยฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน