แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ว่า ผู้ร้องรื้อบ้านให้เช่าของผู้ตายแล้วเอาบ้านไม้ไปโดยทุจริต ทำให้กองมรดกได้รับความเสียหายนั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนฎีกาที่ว่าผู้ร้องรื้อบ้านของผู้ตายและนำเงินที่ขายได้ไปใช้ส่วนตัวโดยพลการนั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่นำสืบว่าผู้ร้องนำเงินจำนวนนี้ไปซ่อมแซมบ้านซึ่งผู้ตายพักอาศัย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่น ๆ ประกอบด้วย พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าผู้ร้องไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งมีข้อกำหนดพินัยกรรมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก การที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยไม่ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกฝ่ายเดียวจึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาว่าสมควรที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า นอกจากที่ดินที่ระบุหลักฐานโฉนดที่ดินในพินัยกรรมแล้ว ผู้ตายยังมีทรัพย์สินอื่นที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน ซึ่งหากผู้ตายมีเจตนาจะยกทรัพย์สินดังกล่าวให้ด้วยแล้ว ก็น่าที่จะระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจน นอกจากนี้ไม่ปรากฏข้อความที่ผู้ตายจะตัดทายาทอื่นไม่ให้รับมรดก จึงมีทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม คดีนี้ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและอุทธรณ์ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ดังนั้น หากศาลเห็นว่าการตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกอีกผู้หนึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการมรดกยิ่งขึ้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 3 ก็อ้างว่าผู้ร้องใช้การฉ้อฉลแสดงเจตนาหลอกลวงให้ผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง และร่วมเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนนิติกรรม ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่าผู้ตายถูกจำเลยฉ้อฉลหลอกลวงและพิพากษายกฟ้อง คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ทำให้เชื่อว่าหากผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง การจัดการมรดกก็จะมีข้อขัดแย้งและเป็นอุปสรรคในการจัดการมรดกให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวชอบแล้ว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางจิราภรณ์ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องคัดค้านทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสี่ นายปรีชา นายเชียรชัย นายสารสิทธิ์ (ถึงแก่ความตายแล้ว) เป็นบุตรของนางเง็ก ผู้ตาย กับนายบักเซ้ง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2549 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ระบุยกที่ดิน 9 แปลง รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 7902 และที่ดินโฉนดเลขที่ 9216 แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านทั้งสี่ และนายปรีชา โดยให้แบ่งที่ดินทุกแปลงคนละเท่า ๆ กัน และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก หลังจากนั้นวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ผู้ตายโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7902 ให้แก่ผู้ร้องและผู้ตายขายที่ดิน 2 แปลง ที่ระบุในพินัยกรรมแก่บุคคลภายนอก วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้ตายโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9216 ให้แก่ผู้ร้อง ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ผู้ตายถึงแก่ความตาย
ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ว่า ผู้ร้องรื้อบ้านให้เช่าของผู้ตายในที่ดินโฉนดเลขที่ 19343 แล้วเอาบ้านไม้ไปโดยทุจริต ทำให้กองมรดกได้รับความเสียหาย นั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนฎีกาที่ว่าผู้ร้องรื้อบ้านเลขที่ 219 ของผู้ตาย และนำเงินที่ขายได้ 70,000 บาท ไปใช้ส่วนตัวโดยพลการ นั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่นำสืบว่าผู้ร้องนำเงินจำนวนนี้ไปซ่อมแซมบ้านเลขที่ 385/5 ซึ่งผู้ตายพักอาศัย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ว่า มีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสี่ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก เพราะผู้ตายได้เงินจากการขายที่ดิน 2 แปลง จำนวน 2,310,000 บาท ผู้ตายไม่ได้มอบให้ผู้ร้องเป็นการส่วนตัว ผู้ร้องอ้างว่าเงินดังกล่าวได้ใช้ไปไม่มีเหลือแล้วโดยผู้ร้องไม่มีหลักฐานการใช้จ่าย การกระทำของผู้ร้องเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก นอกจากทรัพย์มรดกที่ปรากฏในพินัยกรรมแล้วผู้ตายยังมีที่ดินโฉนดเลขที่ 9704 และ 9705 และเงินฝากในธนาคารชื่อบัญชีผู้ร้อง ซึ่งผู้ตายไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ทายาทยินยอมให้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดก ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่วินิจฉัยให้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดก หรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องไม่ถูกต้อง นั้น เห็นว่า บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่น ๆ ประกอบด้วย สำหรับผู้ร้องนั้น ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ตายพักอาศัยอยู่ตามลำพัง ปี 2554 ผู้ร้องกู้ยืมเงินมาซ่อมแซมบ้านเลขที่ 385/5 ให้ผู้ตายพักอาศัย ผู้ร้องมีอาชีพรับราชการครู ได้ไปดูแลและนำเครื่องใช้จำเป็นพร้อมอาหารไปให้ผู้ตายทุกเช้าก่อนที่ผู้ร้องจะไปทำงานที่โรงเรียน ต้นปี 2558 ผู้คัดค้านที่ 1 ให้ผู้ตายไปอยู่บ้านผู้ร้อง ผู้ร้องดูแลผู้ตายอย่างดี รวมทั้งจ้างนางสาวรัตนากร เป็นผู้ดูแลในช่วงที่ผู้ร้องทำงาน ส่วนเวลากลางคืนผู้ร้องดูแลปฏิบัติผู้ตายด้วยตนเอง ผู้ตายไว้วางใจและตั้งใจให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจึงกำหนดไว้ในพินัยกรรม เงินที่ผู้ตายได้จากการขายที่ดิน 2 แปลง เนื้อที่ 100 ตารางวา ตารางวาละ 20,000 บาท ผู้ตายสั่งให้ผู้ร้องเบิกมาให้ผู้ตายใช้จ่าย และเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ตายที่เบิกไม่ได้ รวมทั้งผู้ตายคืนเงินค่าซ่อมแซมบ้านเลขที่ 385/5 แก่ผู้ร้อง และนำมาจัดการงานศพของผู้ตาย ซึ่งฝ่ายผู้คัดค้านก็รับว่าผู้ร้องซ่อมแซมบ้านเลขที่ 385/5 ผู้ร้องดูแลผู้ตายและว่าจ้างบุคคลอื่นมาช่วยดูแลผู้ตาย รวมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลผู้ตายที่เบิกไม่ได้ และผู้ร้องจัดการงานศพของผู้ตาย โดยไม่เคยได้รับเงินจากผู้คัดค้านทั้งสี่ ที่ผู้คัดค้านทั้งสี่อ้างว่าผู้ร้องไม่มีหลักฐานการใช้จ่าย การกระทำของผู้ร้องเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก นั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่ก็ไม่นำสืบให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้นเป็นจำนวนเงินเท่าใด และที่ผู้คัดค้านทั้งสี่อ้างว่าผู้ร้องชกหน้าผู้คัดค้านที่ 1 เพียงเพราะผู้คัดค้านที่ 1 มีเหตุไม่สามารถดูแลผู้ตายในวันที่ผู้ร้องให้ช่วยดูแลผู้ตาย ผู้ร้องกีดกันไม่ให้ผู้คัดค้านทั้งสี่ดูแลผู้ตาย นั้น เห็นว่า ผู้ร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 มาช่วยดูแลผู้ตาย จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องกีดกันไม่ให้ผู้คัดค้านทั้งสี่ดูแลผู้ตาย ทั้งการที่ผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่มาดูแลผู้ตายและผู้ร้องไม่พอใจผู้คัดค้านที่ 1 ที่ไม่ช่วยดูแลผู้ตายซึ่งเป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสี่และผู้ร้องดังกล่าว ก็ยังไม่พอฟังว่าผู้ร้องไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสี่จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าผู้ร้องไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งมีข้อกำหนดพินัยกรรมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก การที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยไม่ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกฝ่ายเดียวจึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาว่าสมควรที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่ นั้น เห็นว่า พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้ตายทำไว้มีข้อความสำคัญกำหนดไว้ว่า “ข้อ 1 ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ ที่ดิน 9 แปลง ตามโฉนดที่ดินที่ระบุไว้ ขอยกให้ นางจิราภรณ์ (ผู้ร้อง) นางประไพพิศ นางวิจิตรา พันตำรวจตรี สิทธิยา นายเดชา (ผู้คัดค้านทั้งสี่) และนายปรีชา ข้อ 2. ข้าพเจ้าขอมอบพินัยกรรมฉบับนี้แก่นายอำเภอท่ายาง และขอตั้งให้นางจิราภรณ์ (ผู้ร้อง) เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมนี้และให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ” แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า นอกจากที่ดิน 9 แปลง ที่ระบุหลักฐานโฉนดที่ดินในพินัยกรรมแล้ว ผู้ตายยังมีทรัพย์สินอื่นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันเป็นที่ดินอีก 2 แปลง และเงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบิ๊กซี เพชรบุรี ชื่อบัญชีผู้ร้อง ซึ่งหากผู้ตายมีเจตนาจะยกทรัพย์สินดังกล่าวให้ด้วยแล้ว ก็น่าที่จะระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนได้ แม้หากผู้ตายจะจำเลขโฉนดที่ดินไม่ได้ แต่ก็สามารถระบุสถานที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ได้ นอกจากนี้ไม่ปรากฏข้อความที่ผู้ตายจะตัดทายาทอื่นไม่ให้รับมรดกแต่อย่างใด จึงมีทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม คดีนี้ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและอุทธรณ์ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ดังนั้น หากศาลเห็นว่าการตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกอีกผู้หนึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการมรดกยิ่งขึ้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 3 ก็อ้างว่าผู้ร้องใช้การฉ้อฉลแสดงเจตนาหลอกลวงให้ผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง และร่วมเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามคดีหมายเลขดำที่ 1089/2558 ซึ่งปรากฏต่อมาว่าศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่านางเง็กผู้ตายถูกจำเลยฉ้อฉลหลอกลวง และพิพากษายกฟ้อง ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 385/2559 ท้ายคำแก้อุทธรณ์ของผู้ร้อง ดังนี้ทำให้เชื่อว่าหากผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง การจัดการมรดกก็จะมีข้อขัดแย้งและเป็นอุปสรรคในการจัดการมรดกให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน แต่ผลของคดีไม่เปลี่ยนไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ