คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “A380” เป็นการนำเอาตัวอักษรโรมัน 1 ตัว คือ A และตัวเลขอาระบิกอีก 3 ตัว มาเรียงต่อกันเป็นลักษณะของกลุ่มตัวอักษรและตัวเลข โดยมีแนวคิดจากการนำตัวอักษร A ซึ่งมีที่มาจากอักษรโรมันคำว่า “AIRBUS” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชื่อเต็มของนิติบุคคลโจทก์ (แอร์บัส โอเปอร์เรชั่น จีเอ็มบีเอช) ซึ่งแม้จะเป็นการนำมาวางเรียงต่อกันในลักษณะธรรมดาทั่วไปโดยมิได้สร้างให้มีลักษณะพิเศษ แต่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (3) บัญญัติให้เฉพาะแต่กลุ่มของสีเท่านั้นที่ต้องแสดงลักษณะพิเศษ ไม่รวมถึงตัวหนังสือหรือตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “A380” ที่ขอจดทะเบียนดังกล่าว จึงไม่จำต้องเป็นกลุ่มคำตัวหนังสือ หรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษด้วยแต่อย่างใด เมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับรายการสินค้า เครื่องเล่นเกม ของเล่น อุปกรณ์ยิมนาสติกและอุปกรณ์กีฬา ยานพาหนะจำลองย่อส่วน ยานพาหนะของเล่น เครื่องร่อนชูชีพ เกมปริศนา ไพ่ ในจำพวกที่ 28 ของโจทก์ ประชาชนผู้บริโภคย่อมสามารถทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่น ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือที่ พณ 0704/44832 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 464/2558 และพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 829695 เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะพึงรับจดทะเบียนได้ ให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป หากจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือที่ พณ 0704/44832 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 464/2558 ให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 829695 ต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ของโจทก์ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทในเครือของแอร์บัส เอส.เอ.เอส และเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2554 แอร์บัส เอส.เอ.เอส ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “A380” ต่อจำเลยตามคำขอเลขที่ 829695 สำหรับสินค้า เครื่องเล่นเกม ของเล่น อุปกรณ์ยิมนาสติกและอุปกรณ์กีฬา ยานพาหนะจำลองย่อส่วน ยานพาหนะของเล่น เครื่องร่อนชูชีพ เกมปริศนา ไพ่ ในจำพวกที่ 28 ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2556 แอร์บัส เอส.เอ.เอส โอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แอร์บัส เอส.เอ.เอส ขอถือสิทธิวันที่ยื่นคำขอนอกราชอาณาจักรครั้งแรกเป็นวันยื่นคำขอในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 28 คือ วันที่ 17 มิถุนายน 2554 ที่ยื่นคำขอที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาคำขอดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 เพราะอักษรโรมันและตัวเลขอาระบิก A380 เป็นอักษรธรรมดา มิได้แสดงโดยลักษณะพิเศษตามมาตรา 7 วรรคสอง (3) สำหรับหลักฐานนำสืบลักษณะบ่งเฉพาะได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นหลักฐานแสดงการใช้เครื่องหมายการค้ากับเครื่องบินโดยสารเท่านั้น มิได้มีการใช้กับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียน นับว่ายังไม่เพียงพอที่จะถือว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นที่รู้จักแล้วในประเทศไทยอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม จึงมีคำสั่งปฏิเสธการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “A380” มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ โจทก์มีนายกฤชวัชร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานได้ความว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “A380” มีที่มาจากชื่อของเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่ผลิตโดยบริษัทในเครือบริษัทของโจทก์ โดยอักษร A มีที่มาจากอักษรโรมัน คำว่า “AIRBUS” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเต็มนิติบุคคลของโจทก์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า “A380” เป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่และเลขอาระบิกธรรมดาที่มิได้แสดงลักษณะพิเศษ ถือว่าเป็นตัวหนังสือและตัวเลขที่มิได้ประดิษฐ์ขึ้น ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 7 วรรคสอง (3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น และในมาตรา 7 วรรคสอง บัญญัติว่า เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ…(3) กลุ่มของสีที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ หรือตัวหนังสือ ตัวเลขหรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “A380” เป็นการนำเอาตัวอักษรโรมัน 1 ตัว คือ A และตัวเลขอาระบิกอีก 3 ตัว มาเรียงต่อกันเป็นลักษณะของกลุ่มตัวอักษรและตัวเลข โดยมีแนวคิดจากการนำอักษร A ซึ่งมีที่มาจากอักษรโรมันคำว่า “AIRBUS” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชื่อเต็มนิติบุคคลของโจทก์ ซึ่งแม้จะเป็นการนำตัวอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ 1 ตัวและตัวเลขอาระบิก 3 ตัวมาวางเรียงต่อกันในลักษณะธรรมดาทั่วไปโดยมิได้สร้างให้มีลักษณะพิเศษ แต่บทบัญญัติในมาตรา 7 วรรคสอง (3) บัญญัติให้เฉพาะแต่กลุ่มของสีเท่านั้นที่ต้องแสดงลักษณะพิเศษ ไม่รวมถึงตัวหนังสือหรือตัวเลขหรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “A380” ที่ขอจดทะเบียนดังกล่าวจึงไม่จำต้องเป็นกลุ่มคำ ตัวหนังสือหรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษด้วยแต่อย่างใด เมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับรายการสินค้าของโจทก์ ประชาชนผู้บริโภคย่อมสามารถทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “A380” จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5403/2551 ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์นั้น ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกรณีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าจนเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยอันจะถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แล้วหรือไม่อีก เพราะมิใช่กรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 7 วรรคสอง (1) และ (2) จึงไม่อาจพิสูจน์หลักฐานเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีนี้ และไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง แต่การพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของโจทก์ต่อไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นลำดับไป มิใช่กรณีที่จะบังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เลย ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 829695 ต่อไป จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 829695 ของโจทก์ต่อไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share